Error message

  • Deprecated function: Methods with the same name as their class will not be constructors in a future version of PHP; views_display has a deprecated constructor in require_once() (line 3066 of /home/budnetorg/domains/budnet.org/public_html/sunset/includes/bootstrap.inc).
  • Deprecated function: The each() function is deprecated. This message will be suppressed on further calls in menu_set_active_trail() (line 2385 of /home/budnetorg/domains/budnet.org/public_html/sunset/includes/menu.inc).

เตือนตายในเดินทาง

-A +A

           ด้วยงานที่ทำคือกระบวนกรฝึกอบรมซึ่งต้องตระเวนไปจัดอบรมทั่วทุกภาคของประเทศไทย รวมทั้งงานอดิเรกคือการท่องเที่ยวทั้งในและต่างประเทศ ทำให้คุณวรรณา จารุสมบูรณ์ เดินทางบ่อยครั้ง การพาตัวเองไปอยู่บนยานพาหนะทั้งทางบก ทางน้ำ ทางอากาศ ที่ต้องฝากชีวิตไว้กับผู้อื่นนับเป็นความเสี่ยงไม่น้อย แม้จะกลับมาได้อย่างปลอดภัยทุกครั้ง แต่ระหว่างทางเธอมักจะพบเห็นอุบัติเหตุบนท้องถนนหนักบ้างเบาบ้างเกือบทุกครั้งที่เดินทาง บางครั้งด้วยสภาพภูมิประเทศและภูมิอากาศที่ไม่ปกติทำให้การเดินทางที่ดูเหมือนจะธรรมดา กลายเป็นการเสี่ยงเป็นเสี่ยงตายเพียงแค่พลิกฝ่ามือ ความไม่แน่นอนของการเดินทางเช่นนี้เอง ที่เธอนำมาใช้เป็นสิ่งเตือนใจให้ระลึกถึงความตาย

           “ปกติก็ไม่ได้ระลึกถึงความตายทุกวันหรอก ส่วนใหญ่จะนึกถึงความตายตอนที่มีอะไรเข้ามาเตือน เช่น เวลาเดินทางไปต่างจังหวัด บางครั้งเห็นรถแฉลบลงข้างทาง หรือรถข้างหน้าเราเค้าเสียหลักแล้วรถเราต้องคอยหลบ ก็จะแว้บคิดขึ้นมาว่าเรามีสิทธิ์ตายได้ทุกเมื่อเลย ไม่รู้ครั้งนี้จะเป็นการเดินทางครั้งสุดท้ายของเราหรือเปล่า ทำให้คิดว่าถ้าเกิดวันนี้เราตายไปจริงๆ เรามีอะไรติดค้างไหม เราจะรู้สึกอย่างไร มีอะไรจะต้องเสียใจหรือเสียดายหรือเปล่า หรือมีอะไรที่เรายังไม่ได้ทำหรือเปล่าก็จะทบทวนเรื่องพวกนี้แล้วรีบจัดการให้เรียบร้อย

           “หรือเวลาเจอรถที่ประสบอุบัติเหตุแบบรถลงข้างทางบ้าง รถชนกันบ้าง รถพลิกคว่ำบ้าง บางครั้งก็เห็นรถพังยับเยินเลย เราก็คิดว่ายังโชคดีที่คนที่นั่งอยู่ในรถคันนั้นไม่ใช่เรา ขณะเดียวกันก็คิดว่า ถ้าคนที่นั่งอยู่ในรถคันนั้นเป็นเราล่ะ เราจะรู้สึกอย่างไร จะวางใจไว้อย่างไร เราจะปล่อยสบายๆ ยอมตายไหม หรือจะพยายามดิ้นรน ก็นึกอยู่ในใจถึงเรื่องที่หลวงพี่ไพศาลเคยเล่าว่า เวลาที่รถจะชนเราแล้วเรารู้สึกว่าทำอะไรไม่ได้แล้ว บางทีถ้าเราฝืนอาจจะทำให้จิตเรายิ่งตระหนกหรือกังวล ถ้าเรายอมว่าครั้งนี้อาจจะเป็นครั้งสุดท้ายของเรา แล้วเราลองปล่อยตัวสบายๆ จิตเราคงเหมือนปล่อยวางได้ อาจช่วยให้จิตเราไม่สับส่ายไปที่อื่น

           “บางทีเดินทางด้วยเครื่องบินและมีช่วงตกหลุมอากาศ เจอพายุ แล้วเครื่องสั่นแรงมาก รู้สึกเลยว่าความตายใกล้มาก ถ้าเกิดเราเป็นอะไรไปตอนนี้จะเป็นอย่างไร จะวางใจเราไว้ที่ตรงไหน บางทีก็นึกถึงเจ้าแม่กวนอิม ขอให้บารมีของท่านคุ้มครองเรา และถ้าเกิดเราจะต้องมีอันเป็นไปจริงๆ ก็ขอให้เราได้ไปเกิดในดินแดนของพุทธภูมิ คือตั้งอธิษฐานจิตไปด้วย บางครั้งก็จะอยู่กับลมหายใจเข้าลมหายใจออก และถ้าจะเกิดอะไรขึ้นก็เปิดใจรับ บางทีก็คิดถึงว่าเราลาใครหรือยัง คือจะนึกว่าถ้าวินาทีนั้นใกล้เข้ามาเราจะนึกถึงอะไรก่อน ซึ่งเวลาที่เราคิดอย่างนี้รู้สึกว่าใจสงบขึ้น ความตกใจก็ลดลง เหมือนเรากลับมาอยู่กับตัวเรามากขึ้น มีสติมากขึ้น แล้วความกลัว ความตระหนก ความตกใจก็หายไป

           “อีกครั้งหนึ่งคือตอนไปอินเดียประมาณ ๑๐ กว่าวัน ช่วงนั้นเป็นช่วงหน้าหนาว หมอกลงจัดมาก จะเริ่มมีหมอกหนาตั้งแต่ประมาณสามโมงเย็นไปจนถึงสิบโมงเช้า และช่วงที่หมอกลงจัดเป็นช่วงที่เราต้องเดินทาง ช่วงที่น่ากลัวที่สุดคือจากพาราณสีไปลุมพินีสถานที่เนปาล ซึ่งเป็นที่ประสูติของพระพุทธเจ้า ต้องใช้เวลาเดินทางประมาณ ๑๓ ชั่วโมงอยู่บนรถบัส ซึ่งทางข้างหน้าขาวโพลนไปหมดมองไม่เห็นอะไรเลย น่ากลัวมากว่าคนขับเขาเห็นทางได้อย่างไร แล้วก็มีรถสวนตลอดเวลา คิดดูสิว่าการจราจรในอินเดียเป็นอะไรที่สุดยอดแล้ว เดี๋ยวก็เจอเกวียน เดี๋ยวก็เจออะไรอีกแล้ว คือมีสิ่งที่ไม่ได้คาดหมายตลอดเวลา แล้วรถก็ไม่ได้วิ่งเลนเดียว เดี๋ยวก็แซงไปแซงมา เรานึกภาพเลยว่าหมอกลงจัดแบบนี้ไม่รู้เลยนะว่าจะเกิดอุบัติเหตุช่วงตรงไหนเพราะมองไม่เห็นอะไรเลย

           “ปรากฏว่าคนขับเก่งมาก เขาค่อยๆ พาเราไปได้จนถึงปลายทาง แต่เชื่อไหมว่าระหว่างเดินทาง ๑๓ ชั่วโมงคนในรถนั่งเกร็งไปตลอด จากเดิมที่คุยๆ กัน เสียงก็เงียบลงๆๆ เหมือนกับว่าลุ้นว่าจะผ่านไปได้ไหมๆ แล้วไกด์เขาก็ชวนสวดมนต์ซึ่งช่วยได้มาก พยายามสวดเสียงดังๆ สวดทุกบทที่มี (หัวเราะ) รู้สึกว่าระหว่างที่สวดมนต์ไปพวกเราก็ค่อยๆ ดีขึ้น จากเดิมที่ตระหนกแล้วก็ร้องว้ายเป็นช่วงๆ บางทีรถวิ่งมาเหมือนจะชนเราแล้วก็เบี่ยงหลบไปจนได้ คือหวาดเสียวตลอดเวลา และมีช่วงหนึ่งที่เขากำลังซ่อมถนนขยายเส้นทาง เป็นเส้นที่เราต้องข้ามสะพาน แล้วตัวขอบสะพานสองข้างมันพังหมดแล้ว เหลือแต่ตัวสะพาน ไม่มีข้างที่เราต้องข้ามไป ถ้าเสียหลักนิดเดียวคือตกน้ำเลย แล้วตอนนั้นอุณหภูมิประมาณ ๑๐-๑๑ องศา เราก็คิดว่าถ้าเราตกลงไปในน้ำที่เย็นขนาดนั้นเราจะเป็นอย่างไร คิดจินตนาการเลยว่าถ้ารถพลิกคว่ำ ตกน้ำ น้ำเย็นเฉียบ เราคงไม่มีปัญญาที่จะว่ายขึ้นฝั่ง เราจะทำอย่างไรดี จะลอยตัวปล่อยให้กระแสน้ำพัดพาเราไป หรือจะทำอย่างไรดี ผ่านวันนั้นมาได้เหมือนเราเกิดใหม่

           “การได้ผ่านภาวะเสี่ยงเป็นเสี่ยงตายจากการเดินทางแบบนี้ ช่วยให้เราปล่อยวางได้มากขึ้นว่าชีวิตมันไม่แน่ แล้วเวลาที่ไปอยู่อินเดียเราควบคุมอะไรไม่ได้ เราไม่สามารถที่จะไปเปลี่ยนแปลงอะไร เรื่องไม่คาดหมายเกิดขึ้นได้ตลอดเวลา สิ่งที่คุณทำได้คือทำใจว่าถ้าเกิดขึ้นแล้วจะทำอย่างไร เราจะกลัวจะกังวลก็ช่วยอะไรไม่ได้ ได้แต่ว่าถ้าเกิดขึ้นเราต้องยอมรับให้ได้ และเราจะอยู่กับวินาทีนั้นของเราอย่างไร ทำให้เรายอมรับได้ง่ายขึ้นว่า ชีวิตมันตายง่ายกว่าที่เราคิดจริงๆ เมื่อเราอยู่ที่อินเดีย บางทีถ้าเราอยู่กรุงเทพฯ อยู่ในสถานการณ์ปกติ เรามักจะคิดว่าเราเลี่ยงได้ หรือว่าเราคงยังไม่ตาย ความตายคงไม่มาถึงเราเร็วหรอก แต่พอไปอินเดียคราวนั้นซึ่งมีความเสี่ยงตลอดเส้นทางสิบกว่าชั่วโมง จะรู้เลยว่าคนเราตายได้ตลอดเวลา ซึ่งก็ทำให้รู้ว่าเราโชคดีขนาดไหนที่ยังมีลมหายใจอยู่ อะไรที่เราอยากทำก็น่าจะรีบทำ ไม่น่าจะรอเพราะว่าเรามีโอกาสตายได้ตลอดเวลา

           “นอกจากนี้ ตอนไปที่สังเวชนียสถาน ได้เห็นร่องรอยของความมีอยู่จริงของพระพุทธเจ้าในฐานะที่เป็นมนุษย์คนหนึ่ง ได้ไปที่กุสินารา สถานที่ที่ท่านเสด็จปรินิพพาน ก็รู้สึกว่าขนาดพระพุทธเจ้าท่านยิ่งใหญ่ขนาดนี้ก็ยังตายเลย ทำให้คิดว่าเราก็คงหนีไม่พ้น เป็นจังหวะที่รู้สึกจริงมากขึ้นว่าความตายนั้นไม่เลือก ทุกคนต้องจากโลกนี้ไปในที่สุด ไม่มีชนชั้นวรรณะ ไม่เลือกเวลา ไม่เลือกว่าจะเป็นใคร แม้แต่พระพุทธเจ้าที่ผู้คนเคารพศรัทธาและท่านมีบุญญาธิการมากก็ยังตาย ทำให้เราตระหนักมากขึ้นว่าความตายเป็นธรรมดาของทุกชีวิตจริงๆ

           “อีกประเด็นตอนไปสังเวชนียสถาน ทำให้รู้สึกว่าเราโชคดีที่ได้เกิดมาในดินแดนของพุทธศาสนา ได้มีโอกาสศึกษาธรรมะบ้าง ได้เข้าถึงความหมายของชีวิต รู้สึกว่าดีที่เราได้เข้าใจเรื่องนี้ก่อน ทำให้สามารถวางจิตวางใจหรือเห็นคุณค่าของการปฏิบัติให้สามารถอยู่กับชีวิตที่เหลือของเราอย่างคนที่ปล่อยวางได้ เราโชคดีที่มีเครื่องมือ ได้เรียนรู้เรื่องการเจริญสติ ได้เข้าถึงธรรมะ ได้เข้าใจเรื่องชีวิต ได้เห็นความตาย และได้รู้ว่าการพลัดพรากเป็นทุกข์อย่างไร เราโชคดีที่ได้รู้ ได้เห็น ได้เข้าใจ และยังมีเครื่องมือให้เราได้ปฏิบัติเพื่อจะเอาไปใช้ในชีวิตของเราที่เหลืออยู่ให้เราไม่ประมาท เป็นเรื่องที่เราต้องฝึกปฏิบัติด้วยไม่ใช่แค่เข้าใจเฉยๆ นี่เป็นประโยชน์ที่ได้จากการเดินทาง

           “สิ่งเตือนสติให้ระลึกถึงความตายนอกจากการเดินทางแล้ว งานฝึกอบรมเผชิญความตายอย่างสงบก็ช่วยเตือนสติได้เป็นอย่างดี โดยเฉพาะครั้งหนึ่งที่จัดอบรมเรื่อง “เป็นมิตรกับความตาย” เรารู้ว่าเราต้องเป็นมิตรกับความตาย รู้ว่าเราฝืนไม่ได้ หนีก็ไม่ได้ แล้วจะมาตอนไหนก็ไม่รู้ รู้อย่างเดียวว่ามันมาถึงเราแน่นอน แล้วไม่เลือกเวลา ไม่เลือกสถานที่ ไม่เลือกวิธีการ แต่นี่เป็นแค่ความคิด แต่วันนั้นระหว่างที่กำลังทำกิจกรรม อยู่ๆ น้องคนหนึ่งก็ล้มลงแล้วตัวเขียว ปากเขียว พอดีมีหมอพยาบาลมาร่วมอบรมด้วยเขาก็ช่วยกันปั๊มขึ้นมา ช่วงที่ปั๊มก็รู้สึกโอ้โฮ ชีวิตที่เราเห็นตรงหน้าเฉียดความตายมาก เสี้ยววินาทีแห่งความเป็นความตายเหมือนยืนบนขอบเหวหมิ่นเหม่จริงๆ ไม่ใช่แค่คิดเอา ข้างในหัวใจเราเต้นแรงมากเพราะความตายกำลังปรากฏอยู่ตรงหน้าเรา ซึ่งตอนแรกที่บอกว่าเราต้องเป็นมิตรกับความตายมันเป็นแค่ความคิดที่เราบอกตัวเอง แต่พอมันยืนอยู่ตรงหน้าจริงๆ รู้เลยว่าเราตระหนก ตื่นเต้น แล้วก็กลัวว่าเขาจะตายจริงๆ

           “แล้วก็มีจังหวะที่ปั๊มขึ้นมา แล้วพอหยุดปั๊มปุ๊บเขาก็ถอยกลับไปอีก ใจเราหล่นวูบเลย เหมือนว่าเราดีใจแค่ชั่วขณะว่าเห็นเขาฟื้น แล้วไม่กี่เสี้ยววินาทีต่อจากนั้นชีวิตเขาก็ไปยืนอยู่บนขอบเหวอีกครั้งหนึ่ง เราเห็นว่าร่างกายแขนขามือไม้เขาเปลี้ยไปหมดเลย แล้วก็ไม่รู้สึกตัว ปากก็เริ่มเขียว ก็ปั๊มฟื้นขึ้นมาพอหยุดปั๊มปุ๊บเขาก็เริ่มเขียวอีก ก็เลยต้องปั๊มตลอดเวลาเกือบ ๒๐ นาที มีหมอหลายคนผลัดกันปั๊มแล้วก็เป่าปาก รู้สึกว่าบทเรียนนี้โดนมาก เขามาเพราะว่าทุกคนก็อยากเตรียมตัว อยากเป็นมิตรกับความตาย แต่พอเกิดขึ้นจริงๆ เราเห็นเลยว่าสิ่งที่เราคิดกับสิ่งที่เกิดขึ้นมันไม่ใช่ แม้ว่าคนๆ นั้นอาจจะเป็นคนที่เราไม่รู้จัก เป็นคนที่เราเพิ่งพบหน้ากันแค่ครั้งแรก เป็นคนที่เราเพิ่งคุยกันเมื่อสักครู่นี้

           “เหตุการณ์นี้ให้บทเรียนสองอย่าง อย่างหนึ่งคือว่าถ้าเราเป็นน้องคนนั้น ตอนที่เดินออกจากบ้านเราออกมาด้วยอาการปกติ ยังพูดได้ ยังหัวเราะได้ ยังคุยได้ ยังทำอะไรได้ทุกอย่าง แต่เราไม่รู้เลยว่านั่นคือการออกจากบ้านครั้งสุดท้ายของเรา เพราะว่าไม่มีสัญญาณบอกเหตุ เราไม่ได้ป่วย ไม่ได้เป็นอะไร เราเดินออกมาด้วยความรู้สึกว่าวันนี้ก็เป็นอีกวันหนึ่งที่เรากำลังจะมาเรียนรู้อะไรที่ดี เราไม่คิดว่าจะมาตาย รู้สึกเลยว่าเราก็ยังประมาทอยู่มาก อย่างที่สอง ทำให้เห็นว่าความตายใกล้ตัวเราขนาดไหน และได้คิดว่าถ้าคนนั้นเป็นคนที่เรารัก เป็นญาติ เป็นพ่อแม่พี่น้อง เป็นลูกเรา มันเป็นอะไรที่ยากจะทำใจยอมรับ ระหว่างความเป็นกับความตายที่เกิดขึ้นตรงหน้าไม่ง่ายที่เราจะยอมรับว่ามันเป็นความจริงที่กำลังเผชิญอยู่ ทำให้คิดว่าตัวเองก็ต้องเตรียมคิดไว้บ้าง เพราะขนาดคนที่เราเพิ่งจะรู้จักเขา ไม่เคยมีความสนิทชิดเชื้อมาก่อนเรายังอึ้งเลย แล้วถ้าเป็นคนที่เรารัก เป็นคนที่เราผูกพัน เป็นคนที่เราคิดว่าเขาจะยังอยู่กับเราไปตลอดชีวิต ถ้าความตายมาอยู่ตรงหน้าเราคงทำใจยากมาก ตรงนี้ทำให้รู้สึกว่า ต้องฝึกทำใจรับกับความพลัดพรากสูญเสีย เพราะเราไม่รู้ว่ามันจะมาถึงเราตอนไหน แล้วเวลาที่มาถึงนี่มันใกล้มาก เราทำอะไรกับมันไม่ได้ ทำอะไรไม่ถูกถ้าไม่ได้ฝึกมา”

คอลัมน์:

ผู้เขียน:

คำสำคัญ: