Error message

  • Deprecated function: Methods with the same name as their class will not be constructors in a future version of PHP; views_display has a deprecated constructor in require_once() (line 3066 of /home/budnetorg/domains/budnet.org/public_html/sunset/includes/bootstrap.inc).
  • Deprecated function: The each() function is deprecated. This message will be suppressed on further calls in menu_set_active_trail() (line 2385 of /home/budnetorg/domains/budnet.org/public_html/sunset/includes/menu.inc).

แผนกให้กำลังใจ

-A +A

  

           “สาธุ...”

           เสียงพยาบาลนับยี่สิบคนเปล่งคำอนุโมทนาพร้อมยกมือขึ้นประนม เป็นเช่นนี้ครั้งแล้วครั้งเล่าท่ามกลางบรรยากาศแห่งความสุขที่อบอวลอยู่ในใจของทุกคน

 

           วันนี้มีการประชุมประจำเดือน ดังเช่นทุกๆ เดือนที่ผ่านมาตั้งแต่เริ่มก่อตั้งชุมชนนักปฏิบัติ (Community of Practice) หรือที่เรียกติดปากในหมู่พยาบาลกลุ่มดังกล่าวว่า “คอป” (COP) งานดูแลผู้ป่วยระยะสุดท้ายและประคับประคองของโรงพยาบาลบุรีรัมย์ แต่เมื่อพยาบาลปฏิบัติหน้าที่ให้การดูแลผู้ป่วยจะแนะนำตนเองว่ามาจาก “แผนกให้กำลังใจ”

           จุดเริ่มต้นของชุมชนนักปฏิบัติงานดูแลผู้ป่วยแบบประคับประคองเกิดขึ้นในปี 2553 โดยการนำของคุณเกื้อจิตร แขรัมย์ พยาบาลวิชาชีพประจำโรงพยาบาลแห่งนี้ หลังจากเธอเริ่มปฎิบัติงานเก็บเกี่ยวความรู้และประสบการณ์การดูแลผู้ป่วยระยะสุดท้ายและประคับประคองได้ ๒ ปี จนบัดนี้ได้ขยายเครือข่ายไปสู่โรงพยาบาลทุกอำเภอใน จ.บุรีรัมย์ และกำลังจะขยายไปสู่แต่ละอำเภอจังหวัดอื่นๆ ด้วย 

 

           คอปประกอบไปด้วยพยาบาลจากหอผู้ป่วยต่างๆ เช่น เคมีบำบัด ไอซียู อายุรกรรม ศัลยกรรม กระดูก กุมารเวช สูตินรีเวช หรือแม้แต่ห้องคลอด ร่วมกันเรียนรู้ที่จะดูแลจิตใจของผู้ป่วย โดยไม่ได้เน้นเฉพาะผู้ป่วยระยะสุดท้ายของชีวิตเท่านั้น ด้วยความจริงที่ว่า “จิตใจสัมพันธ์กับร่างกาย” แม้การอนุญาตให้ผู้ป่วยรอคลอดเดินออกมาถามแม่ที่มาเฝ้าว่าได้กินข้าวหรือยัง เพื่อลดความกังวลของเธอก็สามารถลดความปวดช่องคลอดได้โดยไม่ต้องใช้ยา

           การประชุมในช่วงเช้าเริ่มจากการสวดมนต์บูชาพระรัตนตรัยอย่างง่าย ตามด้วยการภาวนาทำสมาธิเป็นเวลา ๑๐ นาที ก่อนจะเริ่มประชุมในเนื้อหาสาระ

           ครั้งนี้มีสมาชิกใหม่ท่าทางขวยเขินถูกคะยั้นคะยอให้แนะนำตัว “วันแรกก็อย่างนี้แหละ อีกหน่อยให้วางไมค์จะไม่ยอมวาง” ประธานในที่ประชุมพูดหยอกอย่างเป็นกันเอง ก่อนที่จะเริ่มวาระแจ้งเพื่อทราบ และตามด้วยกิจกรรมชั่วโมงแห่งความสุข หรือ Happy Hours 

           กิจกรรมนี้พยาบาลทุกๆ คน ได้ผลัดกันมาเล่าประสบการณ์จากการทำงานด้วยหัวใจในเวลาหนึ่งเดือนที่ผ่านมา เรื่องราวที่ประทับใจ หรือสะเทือนใจโดยไม่จำกัดเวลา มีพยาบาลคนหนึ่งเล่าเรื่องผู้ป่วยเด็กซึ่งเป็นคนไข้ชั่วคราวที่ได้พบกับทีมดูแลผู้ป่วยฯ ด้วยความบังเอิญ เด็กน้อยได้รับการวินิจฉัยจากหมอว่า “เป็นโรคที่รักษาไม่หาย วันหนึ่งก็จะนอนหลับตายไป และต้องใส่อ็อกซิเจนตลอดเวลา” ญาติต้องการซื้ออ็อกซิเจนให้ผู้ป่วยจาก รพ.บุรีรัมย์ซึ่งเป็นทางผ่าน ทีมคอปได้มีโอกาสเข้าไปเยี่ยมบ้าน หาวิธีลดค่าใช้จ่ายที่ต้องซื้อถังอ็อกซิเจนทุกเดือน แต่ด้วยการติดตามอย่างใส่ใจ สอดแทรกการเยี่ยมด้วยการให้หนังสือธรรมะ เกมธรรมะ โดยไม่ยัดเยียด เด็กน้อยเข้าใจความกลัว จนกล้าที่จะลดการใช้อ็อกซิเจนจากสัปดาห์ละ 3 ถัง เป็นสามเดือนหนึ่งถังได้ และยังคงมีชีวิตอยู่จนถึงปัจจุบัน

 

           พยาบาลเล่าด้วยความเบิกบาน มีสีหน้าเจือความสุขเช่นเดียวกับคนฟัง เมื่อเล่าจบทุกคนยกมือประนมสาธุ จากนั้น คุณเกื้อจิตรก็จะให้ความเห็นเพิ่มเติม เป็นเช่นนี้ไปจนครบทุกคนในกิจกรรม “ชั่วโมงแห่งความสุข” 

           ในภาคบ่าย พยาบาลในคอปจะแยกย้ายลงเยี่ยมผู้ป่วยในชุมชน แล้วกลับมาแลกเปลี่ยนสะท้อนการเรียนรู้ที่เกิดขึ้นจากการลงเยี่ยมผู้ป่วยที่ผ่านมา พยาบาลแต่ละคนจะต้องทำบันทึกประสบการณ์และการเรียนรู้จากการทำงานดูแลตามสายงานของตน การประชุมมีบรรยากาศที่ผ่อนคลาย มีเสียงหัวเราะดังขึ้นตลอดการประชุมทั้งวัน อารมณ์ขันและความสุขจากการได้ฟังเรื่องราวดีๆหล่อเลี้ยงพลังใจของพยาบาลในแผนกให้กำลังใจ ทั้งในวันนี้ และการทำงานดูแลผู้ป่วยอีกหนึ่งเดือนข้างหน้า

 

           การประชุมคอปประจำเดือนเป็นพื้นที่สนับสนุนคนทำงานดูแลจิตใจผู้ป่วยทุกแผนก รวมถึงช่วยจัดการและถ่ายทอดความรู้ที่มาจากประสบการณ์การปฏิบัติงานจริง เป็นเวทีพัฒนาศักยภาพคนทำงาน ที่สำคัญคือการสร้างความสุขและตระหนักในคุณค่าของวิชาชีพพยาบาล คุณเกื้อจิตรกล่าวเสริมว่า “คนอื่นอยากทำบุญมากแต่ไม่มีโอกาส แต่พยาบาลอย่างเรามีโอกาสดูแลผู้ป่วยทุกวัน มีโอกาสสร้างบุญกุศลที่ยิ่งใหญ่ได้ทุกๆ วัน” 

           กลุ่มพยาบาลดูแลผู้ป่วยระยะสุดท้ายและประคับประคองไม่ได้ทำงานเพียงจัดประชุมประจำเดือนเท่านั้น แต่ยังหาโอกาสสนับสนุนการทำงานของตนเองด้วยการเพิ่มเติมความรู้ที่จำเป็น เช่น การจัดการความปวดรูปแบบต่างๆ ทักษะการสื่อสาร ทักษะการฟัง การดูแลผู้ป่วยแนวพุทธ นอกจากนี้ยังจัดให้พยาบาลในคอปเข้าค่ายปฏิบัติธรรมเพื่อเพิ่มความเข้มแข็งในจิตใจ ลดอัตตาตัวตนที่เป็นอุปสรรคต่อการดูแลผู้ป่วย เป็นจิตอาสาเรียนรู้วิถีการดูแลผู้ป่วยที่อโรคยาศาล วัดคำประมง เป็นต้น

           ทีมพยาบาลงานดูแลผู้ป่วยแบบประคับประคอง รพ.บุรีรัมย์ ยังทำงานเป็นเครือข่ายกับโรงพยาบาลชุมชนอื่นๆ ทั่วทุกตำบลในจังหวัด ด้วยการเผยแพร่แนวคิดและทักษะการดูแลผู้ป่วยแบบประคับประคอง ทีมงานจะมีฐานข้อมูลเบอร์โทรศัพท์แพทย์และพยาบาลที่ทำงานดูแลผู้ป่วยประคับประคองเพื่อประโยชน์ในการส่งต่อผู้ป่วยให้ได้รับความดูแลอย่างต่อเนื่อง นอกจากนี้ยังจัดเผยแพร่แนวคิดด้วยเทคนิคการเล่าประสบการณ์การดูแลแบบประคับประคองในโรงพยาบาล เพื่อสร้างความร่วมมือในการทำงานและกระแสการทำงานเยียวยาทางจิตใจควบคู่ไปกับการดูแลทางกาย

           คอปงานดูแลผู้ป่วยระยะสุดท้ายและประคับประคองไม่ได้ทำงานเฉพาะหมู่พยาบาลในโรงพยาบาลเท่านั้น แต่ยังทำงานร่วมกับเครือข่ายจิตอาสาที่เป็น (หรือเคยเป็น) ผู้ปวย จิตอาสาเหล่านี้มีทักษะในการสื่อสาร เยียวยา ให้กำลังใจแก่ผู้ป่วยเพราะมีประสบการณ์ร่วม ตลอดจนทำงานร่วมกับเครือข่ายพระสงฆ์ ที่จะสนับสนุนการเยียวยาทางจิตวิญญาณในช่วงเวลาสุดท้ายของชีวิต

           การทำงานของชุมชนนักปฏิบัติการดูแลผู้ป่วยแบบประคับประคอง รพ.บุรีรัมย์ เป็นหนึ่งในตัวอย่างที่เป็นรูปธรรมที่จะช่วยเหลือเยียวยาจิตใจผู้ป่วย การทำงานของแผนกให้กำลังไม่ได้ราบรื่น บางครั้งต้องพบเจอเงื่อนไขอุปสรรคที่มาลดทอนกำลังใจของคนทำงานเสียเอง แต่เชื่อว่าความสุขที่สัมผัสได้จากการดูแลเพื่อนมนุษย์ด้วยหัวใจ จะเป็นพลังหล่อเลี้ยงให้ทีมงานฝ่าฟันและก้าวข้ามไปได้ในที่สุด

 

คอลัมน์: