Error message

Deprecated function: The each() function is deprecated. This message will be suppressed on further calls in menu_set_active_trail() (line 2385 of /home/budnetorg/domains/budnet.org/public_html/sunset/includes/menu.inc).

ประสบการณ์ ‘มรณสติ’ ที่พิพิธภัณฑ์ศิริราช

-A +A

         เมื่อ 26 กรกฎาคม 2557 ที่ผ่านมา ทางแผนงานเผชิญความตายอย่างสงบ เครือข่ายพุทธิกา ได้จัดกิจกรรมสัญจรครึ่งวัน เข้าเยี่ยมชมพิพิธภัณฑ์การแพทย์ศิริราช ที่ตึกอดุลยเดชวิกรม: พิพิธภัณฑ์พยาธิวิทยาเอลลิส, พิพิธภัณฑ์นิติเวชศาสตร์ พิพิธภัณฑ์สงกรานต์ นิยมเสน, พิพิธภัณฑ์ปรสิตวิทยา และที่ตึกกายวิภาค: พิพิธภัณฑ์กายวิภาคศาสตร์คองดอน สำหรับผู้เข้าชมแล้วนับเป็นโอกาสพิเศษที่จะได้เรียนรู้เกี่ยวกับร่างกายชนิดถลกหนังกำพร้าให้ดูหมดไส้หมดพุงกันเลยทีเดียว ซึ่งไม่ได้หาชมกันได้ง่ายๆ และหากการเยี่ยมชมในครั้งนี้ ไม่เป็นเพียงการได้ดู ได้เห็น ได้ฟัง ได้อ่าน แต่เป็นการคิดใคร่ครวญเชื่อมโยงกับมุมมองความตายของตนเอง จะเป็นเหมือนการเจริญ ‘มรณสติ’ ตลอดครึ่งวันเลยทีเดียว

         ในขณะที่เราเดินชมพิพิธภัณฑ์ บางคนเกิดความรู้สึกไม่อยากดูเท่าไร ดูบ้างไม่ดูบ้าง เกิดความหดหู่ ว่าเมื่อเราตายไปก็เป็นแบบนี้ รู้สึกสลด เศร้า กลั้นหายใจหลายรอบ ถอนหายใจก็หลายรอบ สิ่งที่เราเห็นมีอยู่ในตัวเราทั้งนั้น ไม่ว่าจะเป็นตับ ปอด หัวใจ ไส้ เส้นเลือด สมอง กระดูกมากมาย ชีวิตเราไม่ได้สวยงามอย่างที่เราเห็นตัวเองในกระจก การได้มาเห็นชิ้นส่วนอวัยวะต่างๆ ที่อยู่ข้างใต้ชั้นผิวหนังของเรา ช่วยให้เราเข้าใจชีวิตมากขึ้น รู้สึกปลง และช่วยให้เราเชื่อมโยงตัวเรากับคนอื่นๆ ได้ เกิดความตระหนักว่า เรากับคนอื่นไม่ได้แตกต่างกัน ต่างเป็นเพื่อนร่วมโลกกัน 

         สำหรับบางคน มุมมองสำคัญที่ทำให้ได้ฉุกคิดขึ้นมาก็คือ “คนเราก็มีเพียงแค่นี้ ร่างกายเราจะเสื่อมสลายไป สิ่งที่สำคัญกว่าร่างกายก็คือจิตใจ ในขณะที่เรามีชีวิตอยู่ ก็ดูแลร่างกายไปตามเหตุปัจจัย” หรือ “เคยมา 2 ครั้งแล้ว เห็นแล้วรู้สึกเฉยๆ เมื่อถามตัวเองต่อไปว่า ทำไมจึงเฉย ก็ได้คำตอบว่า เพราะยังไม่ใช่ตัวเรา ไม่ใช่คนใกล้ชิดคนในครอบครัว ทีนี้ เราจะฝึกวางใจอย่างไรหากเป็นคนใกล้ตัวเรา”

         บางคนมองความตายว่าเป็นเรื่องธรรมชาติ ธรรมดา แต่เมื่อมาเห็นการตายในบางภาพ บางเหตุการณ์ ก็ตกใจเพราะเป็นภาพที่ไม่เคยเห็นมาก่อน บางครั้ง ปิดตาหรือมองผ่านไปอย่างรวดเร็วก็มี

         มีเหตุปัจจัยมากมายที่เป็นสาเหตุให้เราตาย ทั้งจากอุบัติเหตุ ภัยธรรมชาติต่างๆ ยิ่งเป็นภัยที่คร่าชีวิตคนเป็นจำนวนมากอย่างเหตุการณ์สึนามิ ยิ่งสร้างความสะเทือนใจให้กับเราอย่างมาก 

         บางคนสะท้อนมุมมองความตายที่เชื่อมโยงกับการมีชีวิตอยู่ของเขาว่า “เรามีโอกาสที่จะเป็นโรคเยอะมาก รู้สึกว่าเราโชคดีที่เกิดมาแล้วสมบูรณ์ เดินไปจนถึงห้องสุดท้าย เห็นโครงกระดูก ได้คิดว่า ต่อให้สวยแค่ไหนพอลอกออกมามันก็เหมือนกันหมด ชีวิตเป็นเรื่องมหัศจรรย์มาก เราต้องดูแลร่างกายเรา เมื่อเราได้สิ่งดีๆ มา เราก็ต้องตอบแทนให้คนอื่น” บทเรียนของการเยี่ยมชมพิพิธภัณฑ์ในวันนี้สะท้อนว่า การได้ทบทวนใคร่ครวญความตาย เป็นสิ่งจำเป็นและช่วยสร้างคุณค่าความหมายของการใช้ชีวิตจากวันนี้จนถึงวันสุดท้าย 

         การแลกเปลี่ยนเรื่องความตายของผู้เข้าชมพิพิธภัณฑ์ศิริราช ขยายไปสู่มุมมองการจัดการทางการแพทย์แบบสมัยใหม่ เทคโนโลยีที่ก้าวหน้าช่วยซ่อนความจริงของชีวิตได้อย่างแยบยล ความเจ็บ ความปวด ความแก่ ถูกปกปิดซ่อนเร้นให้เห็นแต่ความสุข ความสวย ความงาม แม้ว่าการแพทย์สมัยใหม่จะนิยามโรคต่างๆ เพิ่มมากขึ้น แต่ทุกขเวทนาจากความเจ็บป่วยของโรคถูกทำให้ลดน้อยลง บนพื้นฐานของการพยายามเอาชนะธรรมชาติ การนิยามโรคใหม่ๆ เป็นไปเพื่อการค้า และในขณะเดียวกันก็ส่งเสริมกิเลสในใจคนให้เพิ่มขึ้น ซึ่งแตกต่างกับหลักคิดทางพุทธศาสนาที่มุ่งเน้นการกำจัดกิเลสในใจคน ตัวอย่างที่เห็นได้ชัดคือ ความชรา ได้ถูกนิยามให้เป็น โรคชรา มีความพยายามในการคิดค้นยา เครื่องมือหรือวิธีการต่างๆ นำออกมาจำหน่ายเพื่อชะลอความแก่

         แม้ในภาวะใกล้ตาย เราก็ยังพยายามนำเทคโนโลยีทางการแพทย์มาใช้เพื่อยื้อชีวิตไว้ให้ได้นานที่สุด เมื่อตายไปแล้ว ยังมีการแต่งหน้าศพ นำใส่โลงตกแต่งดอกไม้อย่างสวยงาม สิ่งเหล่านี้ได้ปกปิดความจริงของชีวิตและความตาย ทำให้เราพลาดโอกาสเรียนรู้สิ่งสำคัญที่จะช่วยให้เราได้ใช้ชีวิตอย่างมีคุณค่า และได้เตรียมพร้อมรับความตายของเราเองซึ่งจะมาเยือนเราอย่างแน่นอนในวันหนึ่ง 

 

ที่มา: