Error message

Deprecated function: The each() function is deprecated. This message will be suppressed on further calls in menu_set_active_trail() (line 2385 of /home/budnetorg/domains/budnet.org/public_html/sunset/includes/menu.inc).

ชมพู่: อยู่กับสิ่งที่มี ไม่ใช่สิ่งที่ฝัน และทำสิ่งนั้นให้ดีที่สุด

-A +A

 

ความไม่แน่นอนของชีวิตเป็นสัจธรรมที่ไม่มีใครปฏิเสธ แต่จะมีสักกี่คนที่รู้ซึ้งถึงความจริงดังกล่าวได้ดีไปกว่าภูธิชา บัวทรัพย์ หรือชมพู่ บัณฑิตสาวคณะพาณิชยศาสตร์และการบัญชีจากรั้วจามจุรี เมื่อ ๑๔ ปีที่แล้วซึ่งกำลังมีอนาคตอันรุ่งโรจน์รออยู่ข้างหน้า ไม่ว่าจะเป็นการงานด้านลอจิสติกในบริษัทใหญ่ของประเทศ และอนาคตด้านการศึกษาต่อปริญญาโท ณ ต่างประเทศ 

แต่แล้วชีวิตที่พรั่งพร้อม ‘เต็มร้อย’ ทั้งความรักและการงาน กลับต้องจบลงภายในเวลาอันรวดเร็ว พลิกกลับมากลายเป็น ‘ศูนย์’ เหมือนเด็กทารกแรกเกิดใหม่ เมื่อเส้นเลือดในสมองของเธอแตกสองวันหลังจากที่เธอทดสอบภาษาอังกฤษเพื่อเตรียมตัวศึกษาต่อ แม้จะโชคดีที่ได้รับการรักษาอย่างทันท่วงทีจนมีชีวิตรอดมาได้ แต่เมื่อลืมตาขึ้นมาอีกครั้ง เธอกลับไม่รู้เลยว่านี่คือโลกใบไหนกันแน่ เป็นโลกที่เธอไม่เคยรู้จัก แม้แต่ว่าใครคือ ‘พ่อ กับ แม่’ และต้องเรียนรู้ใหม่หมด 

นับแต่นั้น เธอต้องใช้ชีวิตอยู่กับโรคหลอดเลือดสมองผิดปกติ (AVM : Arterio Venous Malformation) ที่เส้นเลือดในสมองพร้อมแตกได้ทุกเมื่อมาโดยตลอด ต้องเผชิญกับความทุกข์และความยากลำบากนานัปการ แต่ความทุกข์ดังกล่าวกลับเป็นครูที่ทำให้เธอเข้าใจชีวิต เป็นประสบการณ์อันทรงคุณค่าที่เธอต้องการจะแบ่งปันให้ทุกคนได้เรียนรู้ด้วย

 

ภาพตัวเองในอนาคต?

 “แค่นี้พอ” รอยยิ้มสวยๆ ของ ‘ชมพู่’ พร้อมกับคำตอบที่ไม่ต้องคิดนาน “เพราะไม่รู้ว่าตื่น นอนหลับ จะรู้เหรอว่าจะตายหรือเปล่า เพราะว่าพอออกจากโรงพยาบาล กลับบ้านนะ พู่คิดทุกวันเลย แต่ละวันๆ พรุ่งนี้อาจจะตายก็ได้นะ แต่อ้าว ตื่นมาไม่ตาย ก็สู้ต่อไปอีกหนึ่งวัน จริงๆ นะ ต้องกลับไปดูตัวเราเอง ไม่รู้ว่าอีกครึ่งชั่วโมง หนึ่งวัน หรือหนึ่งอาทิตย์ เราจะตายไหม จะรู้ได้ไง” 

คำตอบของเธอที่ดูง่ายๆ ซื่อๆ จริงใจ เติมเต็มความรู้สึกให้อิ่มเต็มก่อนที่เราจะจากกันเมื่อ ๒๑ พฤศจิกายน ๒๕๕๗ เป็นคำตอบที่ทำให้เห็นภาพชีวิตที่ชัดเจนที่สุดก็ว่าได้

 

บันทึกของแม่ ๒๔ กันยายน ๒๕๔๓...

“ลูกลืมตา พ่อแม่ญาติพี่น้องห้อมล้อมอยู่ ชมพู่แววตาแจ่มใส แล้วพ่อก็กล่อมให้ลูกหลับต่อ เหมือนตอนลูกเล็กๆ ถ้าแม่เอาลูกเข้านอน ๑ ชั่วโมงลูกไม่หลับ พ่อจะทำหน้าที่เอาลูกเข้านอน”

ถ้อยคำของพ่อ... 

ชมพู่... สำหรับพ่อแม่นั้น ถ้าลูกยังไม่ตาย แม้จะเป็นเจ้าหญิงนิทราก็ตาม พ่อแม่รับได้หมด ดังนั้นเมื่อคุณหมอแนะนำว่า พู่ควรจะผ่าตัดสมองอีกครั้ง พ่อจึงต้องเซ็นชื่อเป็นครั้งที่สอง

 

ความรักของครอบครัว 

การเผชิญกับโรคร้ายมานานหลายปี ทำให้เธอพบว่าท้ายที่สุดแล้ว พ่อแม่เท่านั้นที่สำคัญ ไม่ว่าจะเป็นสามี ภรรยา แฟน เลิกกันแล้วก็เป็นคนอื่น แต่พ่อแม่ให้ได้ทุกอย่างโดยไม่หวังตอบแทน 

ทุกวันนี้ ชมพู่อยากตอบแทนพระคุณพ่อแม่มากๆ เธอบอกว่า “เราอยากตอบแทนให้ แต่เราไม่สามารถที่จะให้ได้ เพราะพู่ไมมีเงิน ไม่มีงานทำ และร่างกายยังใช้งานได้เท่านี้ น้องคนหนึ่งแต่งงานแล้ว น้องอีกคนไปอยู่เยอรมัน เลยมีเหลือกันพ่อ-แม่-ลูก พู่จะเป็น ‘แจ๋ว’ ทำทุกอย่างเลย คุณแม่เรียกว่า ‘เสี่ยวเอ้อ’ ซักผ้า กวาดบ้าน ถูบ้าน ล้างจาน ทำทุกอย่างเท่าที่ร่างกายของเราทำได้ เพื่อจะได้ตอบแทนพระคุณ มีแค่รดน้ำต้นไม้เท่านั้น ที่ไม่ได้ทำ เพราะพื้นขรุขระเดินไม่สะดวก” 

 

ตนเป็นที่พึ่งแห่งตน 

แม้จะยินดีทำทุกอย่างเพื่อลูกเสมอ แต่พ่อแม่ของชมพู่ก็พยายามสนับสนุนลูกให้พึ่งตัวเองมากที่สุด เพื่อให้เธอดูแลตนเองได้แม้ไม่มีพวกท่านอยู่ 

มีครั้งหนึ่ง ชมพู่ต้องไปรักษากับหมอชาวบ้านที่ จ.สตูล เธอขอเดินทางไปคนเดียว แม้จะกลัว เพราะต้องขึ้นทั้งเครื่องบิน รถตู้ รถสองแถว และมอเตอร์ไซค์ จากที่ปกติคุณพ่อคุณแม่จะคอยรับส่งมาตลอด ถึงแม้จะห่วง แต่ท่านก็ปล่อยให้ลูกได้ไปตามที่ต้องการ 

“เป็นความรักที่ยอมให้ลูกโต ยอมให้ลูกได้พึ่งตัวเอง เพราะพู่คิดเสมอว่า ถ้าพ่อกับแม่ไปก่อน เราต้องอยู่ให้ได้ พ่อกับแม่ก็ใจกว้างที่จะปล่อยให้ลูกมีอิสระ ได้มีชีวิตอยู่ด้วยตนเอง ระหว่างที่เดินทางไปไหนๆ คนเดียว รู้ว่าท่านห่วง แต่ก็คอยโทรรายงานทุกระยะว่า อยู่ที่ไหน กับใคร ไปอย่างไร แต่บอกตนเองว่าต้องพึ่งตัวเองให้ได้” 

เวลาที่ต้องไปต่างประเทศ เธอก็ไปคนเดียว ชมพู่เคยไปภูฐาน เดินขึ้นไปวัดทักซังอย่างมีสติ คอยจับความรู้สึกที่ขาซ้ายขวา และล่าสุดคือไปร่วมทอดกฐินหลวง ๗ วัดที่อินเดีย

แม้การเผชิญกับความรู้สึกท้อที่ต้องไปเริ่มเรียนใหม่จากศูนย์ แต่พ่อบอกว่า “ต้องทำๆ” และคอยบอกตัวเองว่า “Try again” ตลอดเวลา พ่อเป็นผู้ให้แนวทาง แต่สิ่งสำคัญที่่สุดคือ ตัวเราต้องพยายามเอง

 

วัดจริง

ในหนังสือ สมองของฉัน อัศจรรย์ใจ ที่ชมพู่เป็นผู้เขียนเอง กล่าวถึงเรื่องการปฏิบัติธรรมที่วัดหินหมากเป้ง เธอบอกว่า “ครั้งแรกไม่อยากไปวัด แต่แม่ให้ไป เลยแค่ไปกินไปนอน แล้วก็กลับ แต่ต่อมาเธอได้คิดว่า ถ้าพ่อแม่ตายจะอยู่อย่างไร เธอต้องช่วยตัวเองให้ได้ หลังจากหนึ่งปีผ่านไป เธอขอพ่อแม่ไปวัดคนเดียว ตอนอยู่ที่วัด เธอทำเองทุกอย่าง ไม่ว่าจะเป็นซักผ้า กวาดบ้าน ถูบ้าน ขัดห้องน้ำ ยกเว้นหิ้วปิ่นโตกับน้ำ เพราะเธอใช้แขนได้แค่เพียงข้างเดียว และทางเดินไกลมาก ต้องขอให้แม่ชีช่วย การไปอยู่ที่่่วัด ทำให้ชมพู่ได้ฝึกตัวเอง อย่างน้อย ๑๕ วันถึงหนึ่งเดือน ฝึกการได้อยู่กับตัวเองตลอดเวลา ได้เรียนรู้ ได้อ่านหนังสือธรรมะเล่มละ ๑๐ บาทอย่างช้าๆ” 

 

วัดใจ

หลังจากร่างกายเริ่มฟื้นตัวแล้ว เธอจึงเริ่มกลับมาสานต่อสิ่งต่างๆ ที่อยากทำก่อนจะป่วย 

“เพื่อนๆ จบปริญญาโทปริญญาเอกกันหมดแล้ว เลยวัดใจตัวเองขอกลับมาเรียนต่อปริญญาโทคณะศิลปศาสตร์ สาขาพุทธศาสนา ตอนแรกคิดว่าง่าย แต่ปรากฏว่ายากจริงๆ สอบครั้งแรกไม่ผ่าน รู้สึกท้อ แต่วันรุ่งขึ้น เอาหนังสือที่เขียนไปให้อาจารย์ดู อาจารย์บอกว่า ให้วัดใจตัวเอง ทำได้หรือทำไม่ได้ขึ้นกับตัวคุณเอง สุดท้ายสอบผ่าน และเรียนมาจนเหลือแค่ทำวิทยานิพนธ์ พระครรชิต อากิญฺจโน รุ่นพี่ท่านแนะนำว่าทำเรื่องการเยียวยาผู้ป่วย เลยได้มีโอกาสไปดูผู้ป่วยทุกวัน

จะจบปริญญาโทหรือไม่ยังไม่รู้ ขอ สู้ไปก่อน สู้จนถึงที่สุด แล้ววัดใจตัวเองไป”

 

เวลาเป็นสิ่งสำคัญ

สภาพร่างกายที่ไม่คล่องแคล่วเหมือนเดิม เธอจึงทำทุกสิ่งทุกอย่างเชื่องช้าไปเสียหมด ต้องเริ่มต้นฝึกฝนสิ่งต่างๆ ใหม่ ซึ่งต้องใช้เวลายาวนาน เธอจึงเห็นความสำคัญของเวลาและไม่ปล่อยให้สูญเสียไปโดยเปล่าประโยชน์

 “ถ้าวันที่เส้นเลือดในสมองแตก ถ้าบังเอิญหมอไม่อยู่ ต้องนั่งรอหมอเดินทางมา ชมพู่อาจจะตายไปแล้ว” 

“การฟื้นฟูที่ต้องทำแต่แรกๆ เลยก็สำคัญ ถ้าไม่ทำ เซลล์กล้ามเนื้ออาจจะลีบและเดินไม่ได้ ทุกวันนี้จะชอบเขียนการ์ตูนและชอบเต้นออกกำลังกายในห้อง” 

“หลังผ่าตัดเสร็จใหม่ๆ พูดไม่ได้เลยทั้งภาษาไทยและอังกฤษ ก็เรียนแบบอนุบาลใหม่”

“เดิมเคยเขียนมือขวา ทุกวันนี้ต้องเปลี่ยนไปซ้าย ทุกอย่างเปลี่ยนไปหมด ตอนแรกเขียนตัวใหญ่เท่าหม้อแกงเลย แต่ทุกวันนี้เขียนได้แล้ว ด้วยการพัฒนาฝึกฝนด้วยตัวเอง แต่ต้องใช้เวลา”

 

อย่าเศร้านะ ถ้าจะต้องตาย 

สำหรับครอบครับของเธอแล้ว การพูดถึงความตายไม่ใช่เรื่องเศร้าเลย แต่กว่าจะรู้สึกอย่างนั้นได้เธอต้องใช้เวลาไม่น้อยกว่าจะก้าวผ่านความกลัวดังกล่าวมาได้

“เรื่องความตายกลายเป็นเรื่องตลก ไม่เศร้า พ่อบอกว่า ถ้าพ่อตายก่อนพู่ก็จะได้เงินประกัน แต่ถ้าพู่ไปก่อน พ่อก็จะได้เงิน” 

 “ตอนแรกก็กลัว แต่ตอนนี้ไม่กลัวแล้ว ตายคือตาย เพราะเคยสัมผัสมาก่อน มีเหตุการณ์ตอนอยู่โรงพยาบาลครั้งที่สองที่สาม หลังผ่าตัดใหม่ๆ อยากดื่มน้ำมาก อยากขอแก้วน้ำ แต่ยกแขนไม่ได้ พยาบาลถามว่าจะเอาอะไร แต่เราพูดยังไม่ได้เช่นกัน 

“มารู้ทีหลังว่าแบบนี้เรียกว่า กายกับจิตแยกกัน เพราะได้มีประสบการณ์กับตัวเอง เมื่อมาเรียนต่อปริญญาโท สาขาพุทธศาสตร์ ได้เรียนกรรมฐานด้วย ความเข้าใจเรื่องกายกับจิตจึงเป็นประสบการณ์ที่ทำให้ไม่กลัว 

“เราคิดถึงความตายได้สองแบบมี short run กับ long run อย่าง long run คือพ่อแม่ตายแล้วชมพู่จะอยู่อย่างไร ส่วน short run แค่นอนหลับไม่รู้จะเกิดอะไรขึ้นอาจจะตายได้ทุกคืน ทุกวันนี้จึงต้องเตรียมตัวไว้ มีชีวิตอยู่ก็ตอบแทนบุญคุณให้พ่อแม่ ส่วนระยะสั้นก็เตรียมว่านอนแล้วก็อาจตายคืนนี้ ก็แค่นี้ จบ!!” 

 

เครื่องมือคู่กายกับใจ

เครื่องมือสำคัญที่เธอใช้ในการฝึกกายและใจไปพร้อมๆ กัน เป็นสิ่งใกล้ตัวที่ทุกคนคุ้นเคยกันอยู่แล้วแต่อาจละเลยหรือมองข้ามไป คือ การเดิน เธอบอกว่า “ฝึกการเดินแรกๆ ด้วยการช่วยเหลือจากนักกายภาพ และฝึกอีกเป็นปีจนทุกวันนี้ ก้าวแรกที่เดินได้เพราะว่าใจอยากกลับบ้าน เวลาเดินก็มองที่เท้าห่างไปแค่หนึ่งเมตร ใจไม่วอกแวก พยายามอยู่กับการเดิน แล้วมาเรียนที่ธรรมศาสตร์ต้องขึ้นเรือโป๊ะ ต้องจดจ่อมาก เพราะอาจจะตกน้ำ จึงต้องฝึกมีสติ การเดินจึงเป็นวิถี เป็นเครื่องมือคู่กายกับใจที่สำคัญ” 

 

สิ่งที่อยากบอก 

“ให้มองโลกในแง่ดี มีชีวิตที่ดี ทุกอย่างจะดีเอง อย่าไปผิดหวัง ขนาดชีวิตชมพู่เหลือแค่นี้ จะเรียนจบปริญญาโทไหมก็ไม่เป็นไร คนเราต้องตอบตัวเอง สู้สุดฤทธิ์หรือยัง ถ้าทำสุดๆ แล้ว ผลเป็นอย่างไรก็ไม่เป็นไร ทุกอย่างสำคัญที่ใจ ก่อนหน้านั้นแม้ไม่รู้จะเรียกอะไร แต่ก็ผ่านเหตุการณ์ต่างๆ มาได้ เหมือนผ่านปฏิบัติมาแล้ว พอได้เรียนทฤษฏี ทำให้รู้ว่าปฏิบัติต้องคู่กับทฤษฏี ปฏิบัติต้องทำด้วยตัวเอง แต่ทฤษฏีต้องเรียน การฝึกเดินของชมพู่ก็เหมือนเดินจงกรม มีสมาธิ ฝึกปฏิบัติ ก็ได้สติ สมาธิ และผลก็เป็นปัญญาก็เกิดตอนนั้น”

 

บทเรียนจากชมพู่

ผู้หญิงคนนี้เป็นนักสู้ด้วยหัวใจและจิตวิญญาณที่มองเห็นแง่ดีของโลกได้ทุกรูปแบบ คำว่า ‘มองแง่ดี’ ไม่ใช่เห็นแต่โลกสวย แต่เธอมองโลกอย่างที่เป็นจริง แล้วมองหาเรื่องดีๆ ในสิ่งที่เกิดขึ้นแล้วได้ การยอมรับความเป็นจริงของการเปลี่ยนแปลงไปของโลก ยอมรับสิ่งที่เหลือและทำให้มีค่าที่สุด ทำให้ ๑๐ กว่าปีแล้วของการสู้ชีวิตของเธอเป็นบทเรียนอันล้ำค่าให้กับชีวิตของใครอีกหลายๆ คน แม้ที่ยังไม่ต้องย้อนกลับไปตั้งต้นที่ศูนย์เหมือนกับเธอก็ตาม

วรรณวิภา มาลัยนวล
 ๓๐ ธันวาคม ๒๕๕๗ 

ที่มา:

คอลัมน์:

บุคคลสำคัญ: