Error message

  • Deprecated function: Methods with the same name as their class will not be constructors in a future version of PHP; views_display has a deprecated constructor in require_once() (line 3066 of /home/budnetorg/domains/budnet.org/public_html/sunset/includes/bootstrap.inc).
  • Deprecated function: The each() function is deprecated. This message will be suppressed on further calls in menu_set_active_trail() (line 2385 of /home/budnetorg/domains/budnet.org/public_html/sunset/includes/menu.inc).

อัฏฐมีบูชา

-A +A

            วันอัฏฐมีบูชาหรืองานบูชาในวันคล้ายวันถวายพระเพลิงแด่พุทธสรีระหลังพระพุทธเจ้าเสด็จดับขันธ์ปรินิพพานได้ ๗ วัน  เป็นเหตุการณ์สำคัญอย่างหนึ่งของพุทธศาสนา แต่ชาวพุทธจำนวนมากอาจลืมเลือนไปหรือไม่เคยรับรู้มาก่อน ทั้งๆ ที่มีเรื่องราวน่าเรียนรู้และใช้เป็นอุทาหรณ์ในการเจริญพุทธานุสติและมรณานุสติ เพื่อเตือนตนให้ตั้งอยู่ในความไม่ประมาทซึ่งเป็นคำสอนสุดท้ายของพระพุทธเจ้าได้ดี

            เหตุการณ์ในวันอัฏฐมีบูชา ยังแสดงให้เห็นถึงประเพณีการระลึกถึงคนตายในสมัยพุทธกาล แต่ถึงแม้รูปแบบหลายอย่างจะยังคงสืบทอดต่อมาจนถึงปัจจุบัน ไม่ว่าจะเป็นการสวดและเผาศพ การบูชาพระธาตุ หากแต่ความคิดความเข้าใจที่มีต่อประเพณีต่างๆ กลับเปลี่ยนแปลงไปตามกาลเวลาและสภาพสังคมในแต่ละยุคสมัย ความเปลี่ยนแปลงดังกล่าวยังรวมไปถึงความเข้าใจที่มีต่อพระพุทธเจ้า ทำให้การระลึกถึงพระองค์เปลี่ยนไปด้วย และส่งผลต่อมายังการระลึกถึงความตายของคนทั่วไป น่าเสียดายว่าความเปลี่ยนแปลงส่วนใหญ่เป็นไปในทางที่ทำให้สาระสำคัญของการระลึกถึงผู้ตายตามหลักพุทธศาสนาถูกกลบลบหายไปภายใต้รูปแบบต่างๆ ที่นับวันมีแต่จะพิสดารขึ้นเรื่อยๆ การเรียนรู้ทำความเข้าใจการเปลี่ยนแปลงดังกล่าวผ่านเหตุการณ์อัฏฐมีบูชา อาจช่วยให้เรากลับมาตระหนักในความหมายของการระลึกถึงความตายที่ถูกต้องตามหลักพุทธศาสนาได้มากขึ้น 

 

หินสลัก พระพุทธรูป และพุทธประวัติ

            เมื่อเอ่ยถึงพระพุทธเจ้า ชาวพุทธในยุคปัจจุบันย่อมเข้าใจในทันทีว่าหมายถึงพระศากยมุนี พุทธโคดม และพระพุทธรูปปางต่างๆ คือสัญลักษณ์แทนพระองค์ แต่หากมองย้อนกลับไปในประวัติศาสตร์ของพุทธศาสนานับแต่หลังพุทธกาล เราจะสังเกตเห็นว่า ความเข้าใจต่อพระพุทธเจ้าในแต่ละยุคสมัยมีความแตกต่างกันไปตามความเปลี่ยนแปลงของสังคม ผ่านศิลปวัตถุและวรรณคดีพุทธประวัติในยุคต่างๆ

            การระลึกถึงพระพุทธเจ้าในช่วงหลายร้อยปีแรกหลังพุทธกาล ชาวพุทธจะนึกถึงพระองค์ในลักษณะบุคลาธิษฐานที่เป็นนามธรรม ไม่ได้ระลึกถึงในลักษณะตัวบุคคลในประวัติศาสตร์ การสร้างรูปเคารพถึงพระองค์จึงเป็นสัญลักษณ์แทนเหตุการณ์ต่างๆ ดังปรากฏในภาพพุทธประวัติจากหินสลัก อันเป็นศิลปวัตถุที่สันนิษฐานว่าถูกสร้างขึ้นในประเทศอินเดีย  ช่วงปี พ.ศ. ๓๐๐-๗๐๐ ปี เช่น ดอกบัวหรือช้าง แทนเหตุการณ์ประสูติ ต้นโพธิ์แทนเหตุการณ์ตรัสรู้ และรูปสถูปแทนเหตุการณ์ปรินิพพาน เป็นต้น ซึ่งท่านพุทธทาสมีความเห็นว่า “แสดงความสูงในทางจิตใจของพุทธบริษัทแห่งยุคนั้น ยิ่งกว่าในยุคนี้, จึงไม่ทำรูปของพระพุทธองค์ในลักษณะที่เป็นรูปมนุษย์ ซึ่งเป็นการแสดงความเขลาและความขลาดออกมาในที่สุด, แต่ได้แสดงด้วยสัญลักษณ์ที่ทำขึ้นเฉพาะเหตุการณ์นั้น ๆ ในพระชนม์ชีพของพระองค์ อย่างมีความหมายลึก ชนิดที่รูปภาพคนแสดงเช่นนั้นไม่ได้”

            กระทั่งต่อมาในสมัยของพระเจ้าเมนันเดอร์ (มิลินทร์) กษัตริย์เชื้อสายกรีกยกทัพเข้ามายึดครองแคว้นคันธาราฐแล้วต่อมาเกิดความเลื่อมใสในพุทธศาสนาจึงนำธรรมเนียมการสร้างรูปเทวรูปจากกรีกมาสร้างรูปเคารพของพระพุทธเจ้าในลักษณะของบุคคลขึ้นเป็นครั้งแรกในราว พ.ศ. ๕๐๐ กระทั่งกลายเป็นธรรมเนียมสืบต่อมาจนถึงปัจจุบัน

            ...

            ความเข้าใจของผู้คนต่อพระพุทธเจ้าที่เปลี่ยนแปลงไป ใช่แต่จะพบเห็นได้ในด้านศิลปวัตถุเท่านั้น เรายังพบเห็นความเปลี่ยนแปลงดังกล่าวได้อย่างชัดเจนผ่านงานเขียนพุทธประวัติในแต่ละยุคที่มีความแตกต่างกัน นับตั้งแต่ในพระไตรปิฎก กล่าวคือ แม้ว่าหลักคำสอนของพุทธศาสนาที่มีการบันทึกไว้ในพระไตรปิฎกจะเล่าเรื่องผ่านพระพุทธองค์ แต่เป็นการเล่าเหตุการณ์เพื่อมุ่งแสดงธรรมเป็นสำคัญ การจัดลำดับเรื่องราวจึงเป็นไปเพื่อความสะดวกในการศึกษาธรรมะไม่ได้เรียงตามลำดับเวลาในชีวิตของพระองค์ กระทั่งต่อมาอีกนานนับร้อยปี ท่านอัศวโฆษจึงประพันธ์ พุทธจริต เป็นพุทธประวัติที่สมบูรณ์ในรูปบทกวีฉบับเก่าแก่ที่สุด และมีผู้เรียบเรียงพุทธประวัติต่อมาอีกหลายสำนวน ทั้งในฝ่ายเถรวาทและมหายานแพร่หลายไปในประเทศที่นับถือศาสนาพุทธรวมถึงประเทศไทยด้วย 

            ในประเพณีของพุทธแบบเถรวาทแต่โบราณ พระพุทธเจ้าจะมีลักษณะเป็นสภาวธรรม และการเขียนพุทธประวัติจะเป็นเรื่องของพัฒนาการทางจิต ผ่านการสั่งสมบุญบารมีมาอย่างยาวนานจนบรรลุสัจธรรม โดยมีพระโพธิสัตว์ในพระชาติต่างๆ เป็นตัวเดินเรื่องหลัก ไม่ค่อยให้ความสำคัญกับประวัติของพระพุทธโคดมเท่าใด ดังคัมภีร์พุทธประวัติของลังกา เช่น พุทธวงศ์ ชินาลังการ์ ชินจริต รวมถึงคัมภีร์ไทยโบราณ เช่น มูลศาสนา หรือ สังคีติยวงศ์ ในสมัยรัชกาลที่ ๑ อาจกล่าวได้ว่า พุทธประวัติในสายตาของคนสมัยก่อนเป็น “ธรรมประวัติ” มากกว่า “ชีวประวัติ”  

            แต่ทัศนะที่มีพุทธประวัติในสังคมไทยมีการเปลี่ยนไปอย่างเห็นได้ชัดในยุคกรุงรัตนโกสินทร์ เมื่ออิทธิพลทางความคิดแบบวิทยาศาสตร์จากตะวันตกที่เชื่อแต่ความจริงในเชิงประจักษ์ด้วยอายตนะห้า (ตา หู จมูก ลิ้น กาย) เข้ามาแทนที่โลกทัศน์แบบไตรภูมิที่เชื่อในเรื่องนรก สวรรค์ และนิพพาน มากขึ้นเป็นลำดับ การมองพระพุทธเจ้าในฐานะที่เป็นมนุษย์เป็นทัศนคติที่ใหม่มากในยุคต้นรัตนโกสินทร์ ยิ่งการเห็นพระองค์เป็นบุคคลในประวัติศาสตร์ สามารถระบุวัน เวลา และสถานที่เกิด ตาย ได้แน่นอน เพิ่งมีในสมัยรัชกาลที่ ๔ เป็นครั้งแรก 

            ดังจะเห็นได้จากพุทธประวัติในยุคใกล้ๆ กัน เช่น ปฐมสมโพธิกถา พระนิพนธ์ของพระมหาสมณเจ้า กรมสมเด็จพระปรมานุชิตชิโนรส ในสมัยรัชกาลที่ ๓ เริ่มมีการเปลี่ยนแปลงไปจากประเพณีการเขียนแต่เดิม การย้อนอดีตกล่าวถึงพระโพธิสัตว์ในชาติก่อนๆ ถูกแทนที่ด้วยย้อนอดีตของราชวงศ์พระเจ้าสุทโธทนะ และมีการลำดับเวลาตามที่เป็นจริงในโลก ได้แก่ การระบุปีพรรษาของเหตุการณ์ต่างๆ แทนที่เวลาที่อยู่เหนือโลกอย่างอสงไขย กัปกัลป์ เป็นต้น 

            ต่อมา สมเด็จพระสังฆราช (สา) ศิษย์เอกของพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวในขณะที่เป็นวชิรญาณภิกขุ ทรงพระนิพนธ์ ปฐมสมโพธิ โดยตัดทอนเรื่องปาฏิหาริย์ต่างๆ ออก ไม่ว่าจะเป็นเรื่องเทวดาดีดพิณ ๓ สาย หรือเรื่องพญามารมาทูลให้ปลงอายุสังขาร 

            ส่วน พุทธประวัติ ที่สมเด็จพระมหาสมณเจ้า กรมพระยาวชิรญาณวโรรส ทรงพระนิพนธ์ในสมัยต้นรัชกาลที่ ๖ ซึ่งสังคมไทยเปิดรับโลกทัศน์และวิธีคิดแบบตะวันตกเข้ามาอย่างเต็มที่แล้ว นอกจากจะแทนที่โครงเรื่องแนวประเพณีด้วยข้อมูลเกี่ยวกับประวัติศาสตร์อินเดียในสมัยก่อนพุทธกาล และพระพุทธเจ้าเป็นบุคคลในประวัติศาสตร์ที่สามารถพิสูจน์ได้ด้วยหลักฐานเชิงประจักษ์แล้ว ยังทรงวิพากษ์วิจารณ์การเขียนพุทธประวัติแบบเก่า และให้คำอธิบายเรื่องปาฏิหาริย์ด้วยหลักเหตุผลและข้อเท็จจริงทางประวัติศาสตร์อีกด้วย

 

ระลึกถึงความตายที่ไม่เหมือนเดิม

            โลกทัศน์ของผู้คนในยุคหลังจากรับอิทธิพลทางความคิดแบบวิทยาศาสตร์เข้ามาแทนที่จักรวาลวิทยาแบบไตรภูมิดังกล่าว ยังทำให้ผู้คนมีทัศนคติต่อสิ่งต่างๆ โดยเฉพาะเรื่องเวลาเปลี่ยนแปลงไป จากการมองเวลาเป็นวงกลม เชื่อในเรื่องการเวียนว่ายตายเกิด มาเป็นการมองเวลาเป็นเส้นตรง ที่เชื่อแต่เฉพาะประสบการณ์ในโลกนี้ ทำให้ผู้คนหันมาให้ความสำคัญกับชีวิตนี้มากขึ้น โดยมุ่งแสวงหาประโยชน์ ความสำเร็จ และความสุขในปัจจุบันมากกว่าจะคำนึงถึงประโยชน์ในโลกหน้าดังแต่ก่อน 

            ช่างหรือศิลปินผู้สร้างสรรค์งานศิลปะต่างๆ ในอดีต ไม่มีการจารึกชื่อตนเองไว้ในผลงาน แม้แต่การระลึกถึงบูรพกษัตริย์ยังไม่เอ่ยถึงพระนามของท่านโดยตรง หากแต่ถวายเป็นพุทธบูชา จะมีใครสักกี่คนรู้ว่าชื่อ พระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลก หรือ พระพุทธเลิศหน้านภาลัย ที่ใช้เรียกพระนามของรัชกาลที่ ๑ และ ๒ แห่งกรุงรัตนโกสินทร์ ล้วนแต่เป็นชื่อของพระพุทธรูปที่สมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ ๓ ทรงสร้างถวายให้กับสมเด็จพระบรมอัยกาธิราชและสมเด็จพระราชบิดาของท่าน จนกระทั่งนำมาเรียกแทนพระนามครองราชย์จนปัจจุบัน 

            แต่ความคิดความเชื่อดังกล่าวเริ่มเปลี่ยนแปลงไปอย่างเห็นได้ชัดในสมัยสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ ๕ ดังจะเห็นได้จากการสร้างพระบรมรูปบูรพกษัตริย์แห่งกรุงรัตนโกสินทร์แบบเหมือนจริงไปประดิษฐานอยู่ในปราสาทพระเทพบิดรเป็นครั้งแรก ตามอย่างการสร้างรูปเคารพของชาติตะวันตก แม้กระทั่งการสร้างรูปจำลองพระสยามเทวาธิราชที่มีใบหน้าเหมือนรัชกาลที่ ๔ สมเด็จพระราชบิดาของท่าน นับเป็นการเปิดรับความคิดและศิลปะวิทยาการจากตะวันตกเข้ามาอย่างเต็มที่ จากนั้น ทัศนคติดังกล่าวจึงค่อยๆ แพร่หลายไปในหมู่ชนชั้นนำในสังคมไทย และส่งต่อไปยังชาวบ้านในที่สุด 

            …

            ในด้านหนึ่ง แม้ความคิดความเชื่อและศิลปะวิทยาการแบบใหม่จากตะวันตกจะช่วยปรับปรุงให้คุณภาพชีวิตประจำวันของผู้คนในสังคมไทยดีขึ้นเป็นลำดับ แต่การปฏิเสธและตัดขาดจากความคิดความเชื่อเดิมในเรื่องโลกหน้าและมิติการรับรู้ที่ไปพ้นจากอายตนะห้า ทำให้ผู้คนเริ่มหันมาผูกติดกับการแสวงหาความสุขจากการเสพสิ่งต่างๆ ในโลกนี้ และมองความตายเป็นจุดสิ้นสุดของชีวิตและโอกาสที่จะเสพสุขต่อไป โดยเฉพาะการกลัวตัวตนดับสูญ จึงเริ่มมีทัศนคติที่เป็นปฏิปักษ์กับความตาย และพยายามหาวิธีรักษาตัวตนไม่ให้ดับสูญไปพร้อมกับความตาย จนเกิดความคิดในทำนอง “ตัวตายแต่ชื่อยัง” ฝากชื่อเสียงไว้ให้แก่คนรุ่นหลังได้ระลึกถึง ดังการจารึกชื่อไว้ตามสถานที่ต่างๆ จนกระทั่งการสร้างอนุสาวรีย์ที่เป็นศิลปวัตถุจริงๆ และที่เป็นผลงานแห่งชีวิตเพื่อเป็นการสืบต่อตัวตนออกไป

            เมื่อเริ่มมีทัศนคติเป็นปฏิปักษ์กับความตาย จึงเริ่มเกลียดกลัวความตาย พยายามอยู่ให้ห่างไกล ไม่พูดถึง ไม่เกี่ยวข้องด้วย แต่ก็ไม่สามารถหลีกหนีไปพ้นได้ เมื่อถึงเวลาที่ต้องเผชิญหน้ากับความตายจึงพยายามต่อสู้ดิ้นรนเอาชนะความตาย หรือยืดความตายออกไปให้นานที่สุด ผู้คนในปัจจุบันจึงตายได้ยากขึ้น เพราะไม่ยอมรับและยอมปล่อยให้การตายเป็นไปตามธรรมชาติ จนกลายเป็นสาเหตุสำคัญของความทุกข์ทรมานทั้งผู้ที่กำลังจะตายและคนรอบข้างที่อาจมีผลต่อเนื่องไปจนถึงหลังการตายอีกด้วย

            การสร้างเหตุปัจจัยเพื่อก่อให้เกิดการเปลี่ยนแปลงจากทัศนคติที่เป็นปฏิปักษ์ต่อความตายในปัจจุบัน มาเป็นการยอมรับความตายว่าเป็นส่วนหนึ่งของชีวิต จำต้องอาศัยเหตุปัจจัยที่หลากหลาย การส่งเสริมให้ผู้คนระลึกถึงความตายในชีวิตประจำวัน เป็นเครื่องมือหรืออุบายสำคัญอย่างหนึ่งในการเตรียมตัวตายอย่างสงบ แต่นอกเหนือจากอุบายดังกล่าวแล้ว ประเพณีพิธีกรรมเป็นเครื่องมือทางสังคมอย่างหนึ่งที่ใช้รวมใจและมีพลังกระตุ้นเตือนผู้คนได้อย่างที่ไม่ควรมองข้าม ดังเช่นที่พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงยกย่องวันมาฆบูชาและวันอาสาฬหบูชาให้เป็นวันสำคัญทางพุทธศาสนาจนกลายเป็นประเพณีสืบต่อมาจนถึงปัจจุบัน

            วันอัฏฐมีบูชา ย่อมเป็นวันสำคัญอีกวันหนึ่งของพุทธศาสนาที่เราสามารถใช้เป็นปัจจัยส่งเสริมให้ผู้คนได้เกิดการตระหนักและเรียนรู้เรื่องความตาย และการระลึกถึงความตาย โดยเตือนให้ใช้ชีวิตอยู่ด้วยความไม่ประมาท ดังคำปัจฉิมโอวาทของพระพุทธเจ้าได้เป็นอย่างดี

 

เรียนรู้ความตายจากวันอัฏฐมีบูชา

            วันอัฏฐมีบูชา หมายถึงวันแรม ๘ ค่ำ เดือน ๖ เป็นวันเผาพระสรีระของพระพุทธเจ้าหลังจากเสด็จปรินิพพาน ณ กรุงกุสินารา ที่อยู่ภายใต้การปกครองของราชวงศ์มัลละ หลังจากบูชาพระศพใน ๗ วันแรกของการปรินิพพาน โดยมีพระมหากัสสปะเป็นประธานในพิธี หลังจากนั้น เมื่อบรรดากษัตริย์จาก ๗ แคว้นใหญ่ ได้แก่ กษัตริย์ลิจฉวี ศากยะ ถูลิยะ โกลิยะ อชาตศัตรู โมริยะ และมัลละแห่งเมืองปาวา ทราบข่าวการปรินิพพานของพระพุทธองค์ จึงได้ขอแบ่งพระบรมสารีริกธาตุเพื่อนำไปบูชา แต่กษัตริย์มัลละไม่ยินยอม จนเรื่องราวเกือบจะบานปลายกลายเป็นสงคราม กระทั่งโทณพราหมณ์อาสาเป็นคนกลางเจรจาเพื่อแบ่งพระบรมสารีริกธาตุออกเป็น ๘ ส่วนให้กษัตริย์แคว้นต่างๆ เรื่องราวจึงได้คลี่คลายลง 

 

เหตุการณ์ดังกล่าว ปรากฏความโดยละเอียดใน
พระไตรปิฎก ทีฆนิกาย มหาวรรค มหาปรินิพพานสูตร

 

ทางเลือกการปฏิบัติบูชาในวันอัฏฐมี

            วันสำคัญทางพระพุทธศาสนาจะมีความหมายก็ต่อเมื่อวันสำคัญนั้นๆ ได้ให้บทเรียน เตือนสติ หรือเร่งเร้าให้เราได้เรียนรู้ความจริงและทำความดี กองสาราณียกรขอเสนอทางเลือกในการปฏิบัติบูชาเนื่องในวันอัฏฐมีบูชาไว้ดังนี้ ท่านอาจทำทุกข้อ หรือทำเฉพาะตามความสะดวกของแต่ละท่าน

  • เยี่ยมชมและกราบนมัสการวัดที่มีพระพุทธรูปปางปรินิพพาน
  • นั่งทำความสงบสัก ๓-๕ นาที ระลึกถึงคุณของพระพุทธเจ้า ใคร่ครวญว่าที่ผ่านมาเราได้รับประโยชน์ใดจากคำสอนของพระองค์บ้าง
  • ใคร่ครวญถึงเทศนาครั้งสุดท้ายของพระพุทธเจ้าที่ว่า "ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย บัดนี้ เราขอเตือนท่านทั้งหลายว่า สังขารทั้งหลาย มีความเสื่อมไปเป็นธรรมดา ท่านทั้งหลาย จงทำความไม่ประมาทให้ถึงพร้อมเถิด"
  • ระลึกถึงว่า ร่างกายของเราเองก็เป็นเช่นเดียวกับพระพุทธเจ้าที่ไม่อาจเอาชนะความตายได้ แต่เรามีศักยภาพที่จะยกระดับจิตใจให้เป็นอิสระจากความตาย ไม่ถูกบีบคั้นด้วยความทุกข์ได้เช่นเดียวกับพระองค์
  • ทบทวนสิ่งสำคัญในชีวิตที่ปรารถนาจะทำก่อนตาย
  • ไปเวียนเทียน หรือฟังเทศน์ ในวัดที่จัดงานบูชาในวันอัฏฐมี
  • ถือศีล ๘ ร่วมกับหมู่คณะ
  • ฟังเทปคำบรรยาย อ่านหนังสือธรรมะ
  • ภาวนาในรูปแบบตามความถนัด ฯลฯ

 

 

ตามไปดูงานอัฏฐมีบูชาที่วัดทุ่งยั้ง

            เล่ากันว่าชาวตำบลทุ่งยั้งและตำบลใกล้เคียงใน อ.ลับแล จ.อุตรดิตถ์ จะสอนลูกหลานว่า ในพระพุทธศาสนามีวันสำคัญ ๔ วัน คือ วันมาฆบูชา วิสาขบูชา วันอาสาฬหบูชา และวันอัฐมีบูชา

            เหตุที่วันอัฏฐมีบูชาถูกพูดถึงอย่างเด่นชัด ก็เห็นจะเป็นเพราะวัดพระบรมธาตุทุ่งยั้งได้จัดงานบุญรำลึกถึงวันคล้ายวันถวายพระเพลิงแด่พระศพของพระพุทธเจ้าเป็นประจำทุกปี จัดต่อเนื่องมากว่า ๕๐ ปีแล้ว โดยจะจัดงานเทศนาและสวดพระอภิธรรมตั้งแต่วันวิสาขบูชา (ขึ้น ๑๕ ค่ำ เดือน ๖) จนกระทั่งถึงวันอัฏฐมีบูชา (ขึ้น ๘ ค่ำ เดือน ๗)  ของทุกปี

            ในวันอัฏฐมีบูชานี้เอง ชาวเมืองทุ่งยั้งจะมีพิธีห่มพระบรมธาตุทุ่งยั้งในช่วงเย็น และในช่วงค่ำจะมีการแสดงเวทีแสง สี เสียง จำลองพระพุทธประวัติตอนพระพุทธเจ้าเสด็จดับขันธปรินิพพาน จนถึงการเผาพระสรีระของพระพุทธเจ้าไปจนถึงกลางดึก

            การจัดการแสดงพระพุทธประวัติตอนดังกล่าว ได้รับความร่วมมือจากหน่วยงาน หลายภาคส่วนของจังหวัดอุตรดิตถ์ ตั้งแต่ คณะสงฆ์จังหวัดอุตรดิตถ์ ศาลาว่าการจังหวัด องค์การบริหารส่วนจังหวัด เทศบาลจังหวัด การไฟฟ้า มหาวิทยาราชภัฏอุตรดิตถ์ กองพันทหารปืนใหญ่ ฯลฯ แต่ละหน่วยงานสมทบทุน และปัจจัยคนละเล็กน้อย แต่เมื่อมาผสมผสานเข้าด้วยกันกลับสร้างสรรค์งานแสดงได้อย่างยิ่งใหญ่

            แม้งานจะมีชื่อเสียงระดับประเทศ แต่ที่น่าสนใจคือนักแสดงในเวทีกว่าร้อยชีวิต กลับมาจากนักแสดงลุง ป้า น้าอา ลูกหลานในท้องถิ่น ตลอดจนเหล่าทหารจากกองพันทหารปืนใหญ่และนักศึกษานาฏศิลป์จากมหาวิทยาลัยราชภัฏอุตรดิตถ์  การใช้นักแสดงในท้องถิ่นนั้นเท่ากับเป็นการเรียกแขกได้เป็นอย่างดี เพราะนักแสดงหนึ่งคนย่อมมีญาติมิตรลูกหลานตามมาเชียร์ให้กำลังใจอีกเป็นจำนวนมาก ดังเหตุนี้กระมังที่ทำให้ผู้เข้าร่วมงานนี้มีจำนวนหนึ่งหลักพันคน โดยที่คนร่วมงานส่วนใหญ่เป็นคนในท้องถิ่น

            ในช่วงเริ่มต้นของการแสดง ผู้จัดก็ไม่พลาดที่จะสอดแทรกปลูกฝันคุณค่า คุณธรรมต่างๆ แก่ชาวเมืองผู้ร่วมชมงาน เช่น ชาวเมืองลับแลมีความเอื้อเฟื้อเผื่อแผ่เป็นธรรมชาติ ต่างก็มีความสมัครสมานสามัคคี แม้จะเป็นคนต่างรุ่นต่างสถานะ แต่ก็มีความสัมพันธ์ที่ใกล้ชิดและเกื้อกูลซึ่งกันและกัน ไม่เว้นแม้แต่ฆราวาสกับพระสงฆ์ คุณค่าดังกล่าวสะท้อนผ่านการแสดงการละเล่นและประเพณีในท้องถิ่น เช่น เทศกาลขนมท้องถิ่น งานบุญสลากภัทร ก่อนที่จะเริ่มเข้าสู่พุทธประวัติอันเป็นหัวใจสำคัญของเรื่อง

            การแสดงดึงเอาเรื่องเล่าในพุทธประวัติตอนปรินิพพานและเผาพระศพมาตีความและจัดการแสดงได้อย่างครบถ้วนสมบูรณ์ แม้การแสดงจะยาวนานกว่าสองชั่วโมง คนดูก็มิได้พร่องไปไหนเลย อาจเป็นเพราะทุกคนเฝ้ารอที่จะได้มีส่วนร่วมเป็นนักแสดงในมหรสพชิ้นนี้

            การจัดงานจำลองพิธีดังกล่าว นับได้ว่าเป็นการเรียนรู้ผ่านการแสดงบทบาทสมมติระดับเมืองเลยก็ว่าได้ ผู้เข้าร่วมงานทุกคนจะได้ขึ้นถวายดอกบัวแด่พระศพจำลองก่อนที่จะเผาพระสรีระด้วยไฟจริง  ภาพพระพุทธเจ้าที่เพิ่งปรินิพพานค่อยๆ มอดไหม้ในกองเพลิงจนกลายเป็นเถ้าถ่าน  เร้าให้ผู้ชมเกิดความรู้สึกสะเทือนใจ สังเวชต่อกฎอนิจจัง เกิดความเพียรที่จะเรียนรู้ความจริงยิ่งๆ ขึ้นไป ผู้ชมรู้สึกว่าตนได้เขยิบเข้าไปใกล้ชิดกับพระพุทธเจ้าอย่างไม่เคยเป็นมาก่อน

            งานแสดงแสงสีเสียงตอนนี้ ในแง่หนึ่งอาจเป็นงานมหรสพ เพราะมีนางรำ มีเสียงเพลง มีดอกไม้ไฟ และเพลิงลุกโชติช่วง แต่อีกแง่หนึ่งก็เป็นนาฏกรรมของพระธรรม ที่ชี้ให้เห็นความแจ่มแจ้งของกฎไตรลักษณ์ ในงานแสดงดังกล่าว มิติทางโลกและทางธรรมอยู่ร่วมกันได้อย่างกลมกลืน นักการเมือง นักแสดงบันเทิง นางรำ เด็กน้อย สามารถอยู่ร่วมกับ พระภิกษุ ชีพราหมณ์ ได้อย่างไม่เกื้อเขิน มหรสพชิ้นนี้ดูเอาสนุก บันเทิง จากอภินิหารตอนต่างๆ ก็ได้ เสพชมเอาความสุขและความงามจากการร่ายรำก็ได้ เอาความสังเวชเพื่อเร้าความไม่ประมาทในธรรมก็ได้

            การจัดงานกิจกรรมดังกล่าว นับเป็นภูมิปัญญาจากความร่วมมือทั้งระดับท้องถิ่นได้อย่างน่าสนใจ  ที่สำคัญคือสามารถนำเอาพุทธธรรมมาดัดแปลงประยุกต์ สื่อสารให้ผู้ชมที่แม้จะมีความหลากหลายด้วยเพศ วัย ภูมิรู้ภูมิธรรม แต่ก็สามารถเอื้อให้เกิดความรู้สึกใกล้ชิดและศรัทธาต่อพระรัตนตรัยได้อย่างน่าสนใจและน่าดูชม

 

 

แหล่งข้อมูลประกอบการเขียน:

  • พุทธประวัติจากหินสลัก โดย พุทธทาสภิกขุ
  • พระพุทธศาสนาไทยในอนาคต โดย พระไพศาล วิสาโล
  • การเสวนาเรื่อง “อัฏฐมีบูชา กับ พระพุทธทัศน์ในทัศนะที่เปลี่ยนไป” โดย นภนาท อนุพงศ์พัฒน์ เมื่อวันที่ ๑๙ พฤษภาคม พ.ศ. ๒๕๕๗ ณ หอจดหมายเหตุพุทธทาส อินทปัญโญ (สวนโมกข์กรุงเทพ)
  • บทความ “ทางเลือกการปฏิบัติบูชาในวันอัฏฐมี” และ “ตามไปดูงานอัฏฐมีบูชาที่วัดทุ่งยั้ง” โดย เอกภพ สิทธิวรรณธนะ

 

 

คอลัมน์:

ผู้เขียน: