Error message

  • Deprecated function: Methods with the same name as their class will not be constructors in a future version of PHP; views_display has a deprecated constructor in require_once() (line 3066 of /home/budnetorg/domains/budnet.org/public_html/sunset/includes/bootstrap.inc).
  • Deprecated function: The each() function is deprecated. This message will be suppressed on further calls in menu_set_active_trail() (line 2385 of /home/budnetorg/domains/budnet.org/public_html/sunset/includes/menu.inc).

บนทางสายเปลี่ยว

-A +A

อุบล หาญฤทธิ์ โรงพยาบาลนครพิงค์

ผู้เขียน

ฉันพบพุธและพี่อุไรครั้งแรกในวันที่อากาศร้อนอบอ้าว พุธ ชายหนุ่มรูปร่างผอมสูง ผิวคล้ำ ท่าทางอ่อนระโหยโรยแรง และพี่อุไรพี่สาวของเขา ทั้งสองมาขอคำปรึกษาเรื่องการดูแลคนไข้ด้วยท่าทีเกรงอกเกรงใจ เพราะเป็นเวลาใกล้เที่ยง ตอนนั้นแม้ว่าท้องของฉันจะร้องจ๊อกๆส่งสัญญาณว่าหิวแล้วแต่ก็ตัดสินใจนั่งลง พร้อมทั้งยิ้มให้ด้วยความเต็มใจ ท่ามกลางแสงแดดที่แผดจ้าอยู่ภายนอกฉันได้รับรู้เรื่องราวของครอบครัวนี้

พุธเคยทำงานเป็นไกด์ที่กรุงเทพ ลาออกจากงานเมื่อพบว่าป่วยและมาอาศัยอยู่กับพี่อุไรที่เชียงใหม่ ปกติรักษากับโรงพยาบาลเอกชนในตัวเมือง ช่วงนี้หมอให้ยามาฉีดต่อที่อนามัยใกล้บ้าน พี่อุไรไม่แน่ใจว่าจะต้องปฏิบัติตัวอย่างไรบ้าง และต้องดูแลอะไรเป็นพิเศษ เมื่อฉันถามถึงโรคประจำตัว พุธเหลือบมองหน้าพี่สาวด้วยท่าทางอึดอัดและเอ่ยกับฉันเบาๆว่า ผมติดเชื้อเอดส์ครับ กลัวว่าคนที่ดูแลเค้าจะติดเชื้อไปด้วย  ฉันจึงทบทวนและสร้างความมั่นใจให้พุธและพี่อุไรเรื่องการปฏิบัติตัวและการดูแล เราคุยกันเกือบชั่วโมงทำให้รู้ว่าพุธเคยมีภรรยา และมีลูกสาว 1 คน อายุประมาณ 17 ปี  หลังเลิกรากันลูกสาวไปอยู่กับภรรยาที่โคราช ส่วนพุธยังใช้ชีวิตอยู่กรุงเทพ เมื่อตรวจพบว่าตนเองติดเชื้อ เอช ไอ วี จึงลาออก ใช้เงินกิน เที่ยวจนหมดและกลับมาขออยู่กับพี่อุไร หลังจากนั้นเรื่องของพุธก็เลือนๆไป

ต่อมาบ่ายวันหนึ่ง ฉันกำลังเดินลงมาจากสถานีอนามัยเพื่อไปประชุมที่โรงพยาบาลตอนบ่ายสองโมง ฉันได้พบพี่อุไรอีกครั้ง คราวนี้พี่อุไรมีท่าทางร้อนรน หลังทักทายกันพี่อุไรถามต่อพร้อมน้ำตาคลอเบ้า คุณอุบล จะไปไหนเหรอคะพี่มีเรื่องอยากจะขอความช่วยเหลือหน่อยค่ะ ฉันมองเห็นแววแห่งความทุกข์จับอยู่ในดวงตาคู่นั้น สีหน้าหม่นหมอง ฉันเหลือบดูนาฬิกา ยังพอมีเวลา จึงตัดสินใจเดินกลับขึ้นไปบนสถานีอนามัย เพื่อพูดคุย ฉันจับมือพี่อุไรพร้อมถามว่า มีอะไรจะให้บลช่วยได้บ้างคะ ประโยคยังไม่ทันจบพี่อุไรก็น้ำตาไหลพราก เอ่ยด้วยน้ำเสียงเจือสะอื้น คุณอุบลจำน้องชายพี่ได้หรือเปล่าคะ ตอนนี้พุธไม่ยอมทำอะไรเลย ไม่ยอมช่วยเหลือตัวเอง ไม่ยอมทานยา ไม่ยอมลุกจากที่นอน ถ่ายเลอะเทอะไปหมด พ่อที่ดูแลอยู่ก็ดูไม่ไหว ไม่รู้จะทำยังไงดี นอนอยู่อย่างนี้ 3 วันแล้ว พี่กลัว พี่หนักใจ พี่ไม่รู้จะทำยังไงดี ช่วยพี่หน่อยเถอะค่ะ เธอบีบมือฉันไว้แน่น พร้อมมองหน้าด้วยสายตาวิงวอน ฉันตัดสินใจไปประชุมช้าหน่อย และบอกให้พี่อุไรขับรถนำทางไปกันเลย

ฉันยังจำสภาพของพุธในวันนั้นได้ติดตา ชายหนุ่มผอมหนังหุ้มกระดูก ตาลึกโหล นอนแบบอยู่บนที่นอน กลิ่นปัสสาวะ อุจจาระคละคลุ้ง ฉันเดินเข้าไปนั่งข้างๆ จับมือพุธพร้อมเอ่ยทัก พุธส่ายหน้าช้าๆ และพูดเบาๆ ผมไม่ไหวแล้วครับพี่” ฉันจึงช่วยกับพ่อของพุธอาบน้ำ สระผม เปลี่ยนเสื้อผ้า เครื่องนุ่งห่ม และเครื่องนอนใหม่ให้ แต่คำพูดของพุธยังคงแหบพร่า ผมท้อ ผมสิ้นหวัง ไม่อยากจะต่อสู้ ไม่อยากจะทำอะไรอีกแล้ว ไม่อยากเป็นภาระของใครๆเลยให้กำลังใจไปว่า อย่าพึ่งสิ้นหวังนะ อย่างน้อยที่สุดพ่อของพุธก็ยังเป็นห่วง และดูแลพุธอยู่ถ้าพุธไม่อยากให้พ่อลำบาก พุธก็ต้องดูแลตัวเองด้วย ถ้าพุธแข็งแรงดี พ่อจะได้ไม่เหนื่อยมาก พุธมองหน้าฉันแล้วน้ำตาไหล 

            หลังจากนั้นได้แยกไปคุยกับครอบครัวของพุธ คือพี่อุไร พ่อ และสามีของพี่อุไรซึ่งเป็นชาวอังกฤษ นอกจากคุยกันเรื่องโรค การป้องกันตัวเอง และการดูแลแล้ว ทุกคนได้ปรึกษาหารือกันว่าหากพุธอาการไม่ดีขึ้น ช่วยเหลือตัวเองไม่ได้และทานอะไรไม่ได้จริงๆ จะพาไปโรงพยาบาล ขอบคุณมากนะคะ ที่ช่วยให้ครอบครัวเราได้มานั่งคุยกันเราละเลยการพูดคุย การรับฟังอย่างใส่ใจ ซึ่งกันและกัน เราไม่เคยคุยกันอย่างนี้นานแล้ว ต่างคนต่างเครียด ต่างคนต่างกลัว ต่างคนต่างคิด วันนี้ พี่โล่งใจขึ้นตั้งเยอะ แล้วมาเยี่ยมเราอีกนะคะพี่อุไรขอบคุณแล้วขอบคุณอีกเมื่อฉันเอ่ยลา

ในที่สุด พี่อุไรตัดสินใจพาพุธไปโรงพยาบาล  พุธพักอยู่หอผู้ป่วยสามัญ นอนเตียงหมายเลข ซึ่งอยู่ในล็อคที่หนึ่งด้านในสุดของตึก มีพุธนอนอยู่เพียงลำพัง ทำไมถึงให้มานอนตรงนี้คนเดียวล่ะครับ นอนตรงโน้นไม่ได้เหรอครับ ใกล้พยาบาลด้วย มีคนไข้คนอื่นๆอยู่ด้วยจะได้มีเพื่อนคุย อยู่ตรงนี้เหงา จะเรียกหาใครก็ลำบาก มันมีฉาก มีเตียงกั้นไปหมด เจ้าหน้าที่ก็ไม่ค่อยมีใครเดินมาทางนี้ เวลาผมเรียก เค้าไม่ค่อยได้ยินครับผมกลัว น้ำเสียงบ่งบอกถึงความหวาดหวั่น ว้าเหว่ แต่อย่างไรพุธคงต้องนอนตรงนี้ เพราะพี่อุไรถามพยาบาลที่เคาน์เตอร์แล้วพบว่าด้านนี้จัดไว้สำหรับผู้ป่วยที่เป็นโรคติดต่อ

            ฉันไปเยี่ยมพุธสม่ำเสมอ จนครั้งหนึ่งขณะพี่อุไรไม่อยู่ พุธพูดเบาๆขึ้นว่า พี่หมอครับ ผมอยากพบลูก พี่หมอช่วยพูดกับพี่สาวผมหน่อย ผมไม่กล้าคุยกับพี่อุไร กลัวเขาไม่พอใจ ผมคิดว่า เวลาของผมอาจจะเหลือไม่มากแล้ว” ฉันรับปากและบีบมือพุธเบาๆ เพื่อให้กำลังใจ แต่เมื่อปรึกษาพี่อุไรก็พบว่า พี่ไม่ชอบหลานสาวคนนี้เลย เรียนก็ยังไม่จบ รีบมีแฟน นี่เองคงเป็นสาเหตุให้พุธไม่กล้าพูดเรื่องนี้กับพี่สาวตนเอง ฉันคิดว่าถึงตอนนี้การช่วยให้ปลดปล่อยความรู้สึกผิดบางอย่างที่เกาะกุมจิตใจ  และความปรารถนาที่จะได้พบใครบางคนโดยเฉพาะคนที่ตนรัก หรือคนที่ปรารถนาจะขออโหสิกรรม คงจะเป็นสิ่งที่เราจำเป็นต้องรีบทำอย่างเร่งด่วน เพื่อจะได้บรรเทาความทุกข์ที่อยู่ในใจของเขาได้บ้าง จึงบอกพี่อุไรว่า นึกว่าเห็นแก่พุธดีไหมคะ เขาอาจจะอยากคุยอะไรกับลูกสาวก็ได้ เผื่อว่าจะทำให้สบายใจขึ้น ในที่สุดพี่อุไรก็ตัดสินใจโทรหาลูกสาวและอดีตภรรยาของพุธ

มิ้นลูกสาว และแจ่มอดีตภรรยาของพุธเดินทางมาถึงในบ่ายของวันถัดมา พี่อุไรโทรบอกให้ฉันรู้และนัดกันว่าจะไปเยี่ยมพุธ เย็นนั้นพุธดูอ่อนล้า แต่สายตาเปล่งประกายแห่งความยินดี ภาพวันนั้นทุกคนยืนอยู่ข้างๆเตียง จับมือของพุธ  “พุธ ตอนนี้คนที่พุธอยากพบอยู่ที่นี่หมดแล้ว เราเป็นกำลังใจให้พุธ ไม่ได้เกลียดพุธนะ ถึงพี่จะเคยไม่พอใจ พูดไม่ดีกับน้อง แต่พี่ก็รักน้อง เธอเป็นน้องของพี่นะ พี่อุไรพูดพร้อมจับมือของพุธไปแนบแก้ม และถ้อยคำต่างๆ จากรอบเตียงก็พร่างพรู... พ่อจ๋า มิ้นรักพ่อ พ่อไม่ต้องเป็นห่วงมิ้นนะ พ่อรักษาตัวให้หาย แล้วเราจะไปอยู่ด้วยกันนะพ่อนะมิ้น น้ำเสียงสั่นเครือ ก้มลงไปกอดพ่อ พร้อมกับซ่อนรอยน้ำตาไว้ไม่ให้เห็น แจ่ม ขอโทษ ถ้าสิ่งไหนที่แจ่มเคยทำไม่ดีกับพุธไว้ แจ่มเอ่ยด้วยอาการกลั้นสะอื้น

แล้วพุธก็พึมพำถึงความต้องการราวกับจะรู้ว่าเป็นวาระสุดท้าย พี่ครับ ผมอยากกลับบ้าน ให้ผมกลับไปอยู่ที่บ้านได้ไหม อยู่ที่นี่เหงาเหลือเกิน น่ากลัว ไม่อบอุ่นเหมือนอยู่ที่บ้าน

            พี่อุไรจึงเดินไปถามพยาบาลแต่พบว่าไม่สามารถกลับได้ทันที เพราะหมอไม่อยู่ ถ้าจะนำคนไข้กลับญาติต้องเซ็นเอกสารและโรงพยาบาลจะไม่รับผิดชอบหากเกิดอะไรขึ้น พี่อุไรพยายามต่อรองขออยู่เฝ้าไข้ เพื่อบรรเทาความหวาดกลัวกังวลของน้องชาย แต่ก็ไม่สำเร็จเช่นเดิมเพราะตึกสามัญญาติเฝ้าไม่ได้ และไม่นานเสียงเจ้าหน้าที่ก็ดังมาแต่ไกลว่าหมดเวลาเยี่ยมแล้ว

มองออกไปเบื้องนอก พระอาทิตย์กำลังจะหมดแสง ความมืดโรยตัวเข้ามาอย่างช้าๆ ก่อนที่รังสีแห่งแสงอาทิตย์ลำสุดท้ายกำลังจะลาจาก เราเดินออกจากตึกอย่างเงียบๆ ด้วยความรู้สึกหมองหม่น หดหู่  ทิ้งพุธไว้ตามลำพัง แววตาสุดท้ายที่เขามองมาช่างเศร้าสร้อย อ้างว้าง แกมตัดพ้อต่อว่า ท้องฟ้าภายนอกมืดมิด แต่ความรู้สึกภายในจิตใจของเราดูเหมือนจะมืดมนยิ่งกว่า คืนนั้น ประมาณสามทุ่ม ฉันได้รับโทรศัพท์จากพี่อุไร “ทางโรงพยาบาลโทรมาบอกว่า พุธเสียแล้วเมื่อตอนสองทุ่ม”

ตลอดเส้นทางที่นำพาพุธมาพบกับฉัน บนเส้นทางนั้นฉันได้ร่วมกับครอบครัวของพุธช่วยกัน “ประคับประคอง” แสงแห่งชีวิตหนึ่งที่ริบหรี่ให้มีความสุขบ้างไม่มากก็น้อย ในวาระสุดท้ายพุธได้พบเจอคนที่อยากเจอที่สุดก่อนที่แสงของชีวิตจะดับลง แม้ว่าที่สุดของเส้นทาง พุธจะต้องจากไปอย่างเปลี่ยวเหงาก็ตาม

 

******************************************

  

หมายเหตุ: ชื่อผู้ป่วยและญาติในเรื่องเล่าเป็นชื่อสมมติ

เรื่องเล่านี้เป็น 1 ในเรื่องเล่าจากโครงการขับเคลื่อนมิติสุขภาวะทางปัญญาผ่านการดูแลผู้ป่วยระยะสุดท้าย และได้รับรางวัลชนะเลิศอันดับสองในการประกวดเรื่องเล่าจากใจในงาน Palliative Care Day 2015 เมื่อวันที่่ 14-16 ตุลาคม 2558 จัดโดยโรงพยาบาลศิริราช

ผู้เขียน: