Error message

  • Deprecated function: Methods with the same name as their class will not be constructors in a future version of PHP; views_display has a deprecated constructor in require_once() (line 3066 of /home/budnetorg/domains/budnet.org/public_html/sunset/includes/bootstrap.inc).
  • Deprecated function: The each() function is deprecated. This message will be suppressed on further calls in menu_set_active_trail() (line 2385 of /home/budnetorg/domains/budnet.org/public_html/sunset/includes/menu.inc).

เฮือนเย็น

-A +A

         สังคมไทยโชคดีที่มีวัฒนธรรมท้องถิ่นหลากหลาย และยังคงรักษาไว้ได้ แม้ในทางปฏิบัติจะเปลี่ยนไปบ้าง แต่เป็นการปรับให้เข้ายุคสมัยโดยรักษาหลักการไว้มากกว่า ขึ้นอยู่กับปัจจัยทางสังคมและเศรษฐกิจของที่นั้นๆ เป็นสำคัญ การจัดงานศพทางแถบล้านนา หรือภาคเหนือตอนบน เป็นวัฒนธรรมท้องถิ่นที่น่าสนใจมาก เพราะสะท้อนสัจธรรมชีวิตของมนุษย์ผ่านพิธีกรรม ที่แม้จะซับซ้อน แต่ภายใต้คติความเชื่อดังกล่าวกลับสอนเรื่องการดำรงอยู่ให้แก่ผู้คนและสังคม ดุจเดียวกับพิธีกงเต็กของคนจีนที่แม้จะมีพิธีกรรมมากมายแต่ยังคงสืบทอดจากรุ่นสู่รุ่นมาถึงปัจจุบัน

         ผู้เขียนมีโอกาสแวะไปเที่ยวภาคเหนือตอนบน เมื่อไปถึงน่าน ด้วยความอยากรู้ว่าชาวน่านมีเรื่องราวเกี่ยวกับความตายอย่างไร ประกอบกับได้อ่านหนังสือประวัติศาสตร์สังคมล้านนา จึงขอนำมาเล่าสู่กันฟัง

         ว่ากันว่าประเพณีเฮือนเย็น หรืองานศพ ของชาวล้านนา ถือเป็นพิธีกรรมสำคัญ ไม่ใช่เพียงแค่ครอบครัวของผู้ตายเท่านั้น แต่ชุมชนจะต้องมีส่วนร่วมดูแลช่วยเหลือกัน โดยพิธีกรรมจะผสมผสานความเชื่อทั้งพุทธ ผี พราหมณ์ และไสยศาสตร์

         ความหมายของคำว่าเฮือนเย็นหรือเรือนเย็น คือบ้านที่มีคนตาย เย็นเป็นคำที่สะท้อนว่าเยือกเย็นถึงหัวใจ เพราะการจากไปของบุคคลอันเป็นที่รัก ทำให้เกิดบรรยากาศเงียบเหงาเศร้าสร้อย คล้ายมีวิญญาณของผู้ตายล่องลอยอยู่ จึงเกิด “เฮือนเย็น” จับใจ ต้องจัดงานศพให้กับบ้านนั้นที่อาจจะแตกต่างกันไปในแต่ละท้องถิ่นชุมชน

         ย้อนกลับไปก่อนการตาย หากมีใครป่วยหนักเข้าขั้นวิกฤตหรือใกล้ตายพักอยู่ในบ้าน จะมีการตระเตรียมวาระสุดท้ายเพื่อนำไปสู่การตายดีกันแล้ว ญาติพี่น้องจะต้องมาเยี่ยมเยียนดูแล เฝ้าพยาบาล ไม่มีการทอดทิ้งให้ห่างหาย มิเช่นนั้นจะถือว่าใจแคบ ถูกเพื่อนบ้านตำหนิ 

         ลูกหลานจะนิมนต์พระมาให้ “ธรรมมหาวิบาก” เป็นการเทศน์เกี่ยวกับวิบากกรรม ยิ่งคนเป็นโรคเรื้อรังได้ฟัง เชื่อกันว่าถ้าพ้นวิบาก โรคจะเหือดหายได้เร็ว แต่ถ้ายังมีวิบากกรรม จะสิ้นใจด้วยความสงบ ไม่ทนทุกข์ทรมาน 

         การฟังเทศน์ มีนัยยะเพื่อเตือนสติคนป่วยให้ระลึกถึงพระพุทธ พระธรรม พระสงฆ์ เป็นสรณะในบั้นปลายชีวิต จะมีลูกหลานผู้ชายคนหนึ่ง นำขันข้าวตอกดอกไม้ไปที่วัดในหมู่บ้านเพื่อเป็นตัวแทนผู้ป่วยขอสูมาแก้วทั้งสาม หมายถึงขอขมาพระรัตนตรัย แสดงให้เห็นถึงความศรัทธาของคนป่วย อีกอย่างหนึ่ง ตามความเชื่อของคนโบราณ คนที่กำลังจะตาย สติสัมปชัญญะอาจเลอะเลือน ลูกหลานจะช่วยประคับประคองให้ใจผู้ใกล้ตายสงบลงได้ ด้วยการน้อมนำให้ระลึกถึงบุญกุศล เป็นพาหนะนำไปสู่สุคติภูมิ

         เมื่อคนป่วยกำลังจะจากไป ลูกหลานจะช่วยบอกทางว่า “ขอหื้อคึดหาของกินของทานเน่อ” หมายถึง ขอให้คิดหาแต่บุญกุศล พระรัตนตรัย หรือกล่าวพุทโธๆ จนกระทั่งสิ้นใจ 

         หลังจากผู้ป่วยตายแล้ว ลูกเมียจะร้องไห้ โหยหวนอาลัย เรียกว่า ไห้หูย คร่ำครวญ น่าเวทนา คล้ายพิธีของจีน ว่ากันว่าอาจจะเป็นการให้ระบายความโศกเศร้า แสดงความรัก ความกตัญญู บอกกล่าวให้คนอื่นมารับรู้ มาช่วยเหลือ

         ในงานศพ คนในชุมชนจะมาช่วยกันที่บ้านของผู้ตายอย่างพร้อมเพรียง ทั้งการรับแขก ไปแผ้วถางป่าช้า และทำครัว 

         บทเทศน์มีหลายอย่าง ได้แก่ สวดมาติกา สวดสิยาของพระสงฆ์ชาวล้านนา กล่าวถึงบุญกุศล ทำดีละชั่ว หรือสวดอภิธรรม

         การบรรจุศพ จะมีปราสาทเรือนศพ ชาวล้านนานิยมเอาโลงศพใส่บนเรือน เพราะถือว่าผู้ตายควรได้ไปอยู่ที่บ้านเรือนสวยงาม แล้วนำไปเผาที่ป่าช้า เมื่อทำพิธีศพที่ป่าช้าเสร็จ จึงจะกลับมาสวดมนต์ไหว้พระที่วัด หลังเผา จะมีการเก็บอัฐิไปก่อเป็นเจดีย์ทรายริมน้ำ ประดับด้วยดอกไม้ ตุง นิมนต์พระมาสวดบังสุกุล เมื่อน้ำขึ้น จะพัดพาอัฐิลอยไป บางคนที่ฐานะดีหน่อยจะใส่อัฐิในกู่เจดีย์ที่ป่าช้าหรือที่วัด ให้ลูกหลานมาทำบุญวันสงกรานต์

         ช่วงที่เคลื่อนขบวนศพไปป่าช้า เรียก ปอยล้อ จะใช้ตุงสามหางนำขบวน ถือเป็นสัญลักษณ์ของล้านนา คนถือตุงจะสะพายย่ามใส่เสบียง “ข้าวด่วน” สำหรับให้ผู้วายชนม์ โดยการควักกระทงใบตองใส่เครื่องเซ่นขอผ่านทางตรงไปประตูเข้าหมู่บ้าน หรือทางสามแพร่ง และจุดสำคัญต่างๆ พระสงฆ์จะเป็นคนนำขบวน ตามด้วยญาติ ปราสาทเรือนศพ ต่อด้วยล้อเกวียนดนตรีปี่พาทย์  

         เมื่อถึงป่าช้า ก็เอาศพออกจากโลง ใช้น้ำมะพร้าวล้างหน้าศพ แล้วนำกลับไปใส่โลง ทำพิธีบังสุกุล เดินเวียน ๓ รอบ

         การรำลึกถึงบุญคุณความดีงามของผู้วายชนม์หรือบรรพบุรุษ ชาวล้านนาถือเป็นคุณธรรม โดยลูกหลาน ญาติพี่น้อง คนที่นับถือจะมาทำบุญอุทิศส่วนกุศลไปให้แก่ผู้ตาย หลังจากฌาปนกิจผ่านไประยะหนึ่ง เรียกว่า “ปอยข้าวสังฆ์”  จะมีการจัดข้าวปลาอาหาร สิ่งของที่ผู้ตายชอบ เช่น เสื้อผ้า ที่นอน ของใช้ บางคนแม้แต่เครื่องสำอาง ใส่ลงไปในบ้านหลังเล็กๆ ที่สร้างขึ้น เรียกว่า เฮือนตาน ในงานจะมีการละเล่นดนตรี ขับซอ รื่นเริงมากกว่าเศร้าโศก เจ้าภาพจะเลี้ยงอาหารเต็มที่ นิมนต์พระมาบังสุกุล ลักษณะคล้ายงานพิธีกงเต็กจีน ต่างกันที่ของจีนเป็นเครื่องกระดาษ แต่ทางล้านนาเป็นสิ่งของจริงๆ ถวายพระสงฆ์ แต่จะทำพิธี “บูชาคืน” คือ เจ้าภาพถวายเงินซื้อหรือไถ่เอาของเก็บไว้ที่บ้าน เพราะของส่วนใหญ่ไม่เหมาะกับพระสงฆ์อยู่แล้ว เว้นแต่ของอุปโภคบริโภค และเชื่อกันว่า ของในพิธีปอยข้าวสังฆ์ ถือว่าให้ผู้ตายได้นำไปใช้ในปรโลก โดยผ่านพิธีกรรมทางศาสนาอย่างถูกต้อง

         ทั้งหมดที่กล่าวมา เป็นพิธีการจัดงานที่เกี่ยวกับผู้ตายของชาวล้านนา ปัจจุบันมีการเปลี่ยนแปลงไปตามท้องถิ่นต่างๆ ตามสภาพของแต่ละคนหรือชุมชน ไม่ว่าจะเป็นชาวล้านนาที่น่าน ลำปาง เชียงใหม่ แม่ฮ่องสอน เชียงราย ฯลฯ

 

คอลัมน์: