Error message

Deprecated function: The each() function is deprecated. This message will be suppressed on further calls in menu_set_active_trail() (line 2385 of /home/budnetorg/domains/budnet.org/public_html/sunset/includes/menu.inc).

บทเรียนล้ำค่าจากมะเร็งของลูก

-A +A

เด็กชาย ๒ คน ลงมารับเราที่หน้าคอนโด คนหนึ่งตัวโต ใหญ่ อีกคนตัวเล็ก ปราดเปรียว คนแรกชื่อน้องธรณ์ วรพันธ์ คนที่สองชื่อน้องธรรศ วรพันธ์ หากไม่บอกก็คงไม่รู้ว่าพวกเขาเป็นฝาแฝดกัน เพราะแตกต่างทั้งท่าทาง หน้าตา สีผิว และการแต่งกาย ทั้งคู่ดูสนิทสนมและเล่นหัวกันไม่หยุด พาเดินกึ่งวิ่งไปยังห้องของพวกเขา เมื่อก้าวสู่ห้องชุดก็พบกับคุณแม่แป๊ว อภิชญา วรพันธ์ ผู้เป็นแม่ ผู้ดูแลลูกที่ป่วยมะเร็งระยะที่ ๔ และสามีที่ขณะนี้แอดมิดอยู่โรงพยาบาล แต่ใบหน้าเธอกลับสดชื่นแจ่มใส เช่นเดียวกับน้องธรรศที่ไร้วี่แววแห่งความป่วยไข้ เขาเพียงเป็นเด็กชายวัย ๑๑ ขวบที่ชอบวิ่งซน ยิ้มง่าย และมีของเล่นในมืออยู่เสมอ 

 

เมื่อพบ “เจ้าป่อง”

จุดเริ่มต้นของความเจ็บป่วยนี้ เกิดขึ้นในวันที่เด็กๆ อายุเพียง ๓ ขวบ ๑๐ เดือน คุณแม่พาน้องธรณ์ไปโรงพยาบาลเพราะผื่นขึ้น แต่คุณหมอสังเกตเห็นว่าท้องของน้องธรรศป่องผิดปกติ จึงแนะให้ไปตรวจ ตอนแรกคิดว่าอาจจะเป็นม้ามโต แต่กลับพบก้อนเนื้อในไต เมื่อตรวจก็พบว่าเป็นโรคมะเร็งที่พบได้น้อยมาก (ณ ขณะนั้นมี ๔๐ รายจากทั่วโลก และเป็นผู้ป่วยโรคนี้รายที่สองของโรงพยาบาลจุฬาฯ) และเมื่อทำ CT สแกน ก็พบว่ามะเร็งได้ลามไปที่ซี่โครงหนึ่งแห่ง ต้องผ่าตัดไตออกหนึ่งข้างและทำคีโมเพื่อรักษา เรื่องราวเหล่านี้ย่อมน่าหนักใจสำหรับคนเป็นพ่อแม่ แต่แม่แป๊วกลับหนักแน่นที่จะทราบข่าวร้ายนี้จากคุณหมออย่างตรงไปตรงมา

“คุณหมอ ดิฉันขอข้อมูลที่ตรงที่สุดเพื่อจะได้จัดการตัวเองได้ แต่หมอก็ไม่กล้าบอก ดิฉันจึงพูดว่า ดิฉันรับได้ถ้าลูกจะตายก่อนพ่อแม่ หมอจึงยอมบอกว่าเป็นมะเร็ง ต้องรับการผ่าตัดและให้คีโม พอผ่าตัดเสร็จ ปกติหนึ่งอาทิตย์จะรู้ผล แต่เราก็ยังไม่ได้รับผล หลังจากทำโบนแสกนก็พบว่ามีรอยมะเร็งที่ซี่โครง เรารู้สึกว่ามะเร็งครั้งนี้ไม่ใช่เรื่องเล็กๆ จึงถามคุณหมออีกครั้ง คุณหมอจึงยอมบอกว่าเป็นมะเร็งขั้นที่ ๔”

ความรุนแรงของโรคระดับที่ ๔ ไม่ได้ทำให้คุณแม่ตกใจ ตรงกันข้าม คุณแม่กลับพูดกับคุณหมอว่า “โชคดีจริง ที่มีแค่รอยเดียว” และเมื่อถามถึงสาเหตุที่ยอมรับได้ ผู้หญิงตรงหน้าบอกว่า “พอรู้ว่าเป็นมะเร็งก็มองว่าแรงที่สุดคือตาย ฉะนั้นไม่จำเป็นต้องคิดให้เยิ่นเย้อ พอทบทวนกับตัวเองว่าตายแล้วอย่างไร ก็เห็นว่าเป็นปกติของคนเรา เพียงแต่ว่าโรคนี้มาเกิดกับลูกเราเร็ว พอมองได้ รับได้ ก็ไม่กลัว และเมื่อถอยหลังมาอยู่ในปัจจุบันขณะ เราก็เห็นว่าลูกยังอยู่ ยังไม่ตาย ชีวิตในตอนนี้จึงสำคัญที่สุด”

เมื่อรับรู้ เข้าใจ และยอมรับได้ คุณแม่จึงสื่อสารกับน้องธรรศซึ่งตอนนั้นยังไม่ ๔ ขวบดีให้เข้าใจได้ง่ายๆ โดยตั้งชื่อมะเร็งว่า “เจ้าป่อง” เรียกการผ่าตัดว่า “จัดการ” ถ้าการไปฉายแสงก็บอกว่า “ไปนั่งยานอวกาศของคุณหมอ” และที่สำคัญที่สุดคือต้องไม่โกหก

“เราจะบอกเขาว่า ตอนนี้พี่ธรรศมีเจ้าป่องในท้อง ต้องให้หมอหาว่ามันอยู่ที่ไหน ถ้าหาเจอแล้วจะให้จัดการไหมครับ เราใช้คำว่า “จัดการ” เพราะเด็ก ๔ ขวบฟังคำว่าผ่าตัดแล้วอาจจะกลัว เขาก็ถามว่า ถ้าไม่จัดการจะเป็นอย่างไร ถ้าไม่จัดการ เจ้าป่องจะแย่งอาหารและพี่ธรรศจะไม่โต เด็กๆ ก็อยากโตอยู่แล้ว พอได้ยินอย่างนี้ก็ยอมผ่าตัด นอกจากนี้ เราจะไม่โกหกลูก เช่น เราจะบอกว่าการผ่าตัดจะเจ็บนะ แต่ก็เหมือนกับฉีดยา พอฉีดแล้วจะแข็งแรงขึ้น จะทำไหม เขาก็บอกทำ เราจะไม่โกหกเลย เพราะความรู้สึกของแต่ละคนไม่เหมือนกัน ถ้าพี่บอกไม่เจ็บ แต่เขาเจ็บ ความมั่นใจและความเชื่อใจก็จะหมดลง”

 

ให้กำลังใจ แต่ไม่โอ๋

เมื่อถามน้องธรรศว่าอะไรที่ทำให้น้องผ่านความเจ็บป่วยในช่วงหลายปีนั้นมาได้ เขาบอกว่า “กำลังใจจากคุณแม่” สำคัญที่สุด และเมื่อถามคุณแม่ว่าดูแลอย่างไร คุณแม่ว่าดูแลเรื่อง “ใจ” มากกว่าเรื่อง “กาย” โดยไม่พยายามโอบอุ้มช่วยเหลือไปทุกอย่าง เช่น หลังผ่าตัดก็จะไม่อุ้ม แต่จะบอกให้ลูกตะแคงตัวลุกเอง โดยให้เหตุผลว่าที่ไม่อุ้ม ไม่ใช่คุณแม่ไม่รัก แต่ไม่รู้ว่าลูกจะเจ็บในท่าไหน ถ้าหากลูกลุกเองก็จะรู้ดีที่สุด หรือหลังผ่าตัด ประมาณ ๐๓.๐๐ น. น้องธรรศครางเพราะเจ็บแผล คุณแม่ถามว่า ให้เรียกพี่พยาบาลไหม เขาพยักหน้า พยาบาลก็มาฉีดยาระงับปวดให้ วันรุ่งขึ้นประมาณ ๑๔.๐๐ น. น้องเจ็บแผลอีก นอนดูการ์ตูนไป น้ำตาไหลไป ขาก็สีกันไปมา คุณแม่ถามว่าเป็นอะไร น้องก็บอกว่าเจ็บท้อง แต่ยังทนได้ คุณแม่จึงยังไม่เรียกพยาบาล จนเกือบ ๑๗.๓๐ น. น้องบอกว่าเรียกได้ คุณแม่จึงเรียกให้ อีกวัน เด็กชายคนนี้ก็ลุกขึ้นเดินได้ คุณแม่ก็พาจูงเดิน แต่ไม่อุ้ม สองวันหลังผ่าตัดเสร็จ เจ้าตัวเล็กเริ่มเล่นซนปีนป่ายเตียงจนคนมาเยี่ยมต้องออกปากห้าม แต่คุณแม่พูดติดยิ้มๆ ว่า ถ้าเจ็บก็คงไม่เล่น ที่เล่นเพราะไม่เจ็บแล้ว วิธีการดูแลลูกที่ไม่โอ๋ ไม่เข้ามาจัดแจงทุกเรื่องราว ไม่ใช่ว่าไม่ใส่ใจหรือไม่รัก แต่คุณแม่มีวิธีเลี้ยงลูกที่เคารพสิ่งที่เขาเลือกทำ และไถ่ถามทุกครั้งว่า เขาอยากเลือกหรือไม่เลือกทำอะไร โดยมีหลักอยู่แค่ “อยู่กับเขา” เท่านั้นเอง

“หลักๆ คือ เราอยู่กับเขา แสดงให้เห็นว่าเราไม่ได้ทิ้งเขาไปไหน บางเรื่องก็ให้เขาทำเอง ไม่ต้องโอ๋มาก ไม่ต้องกลัวเจ็บ เพราะอย่างไรก็เจ็บ พี่มองว่าเป็นมะเร็งนี่ เขาต้องให้คีโมอีกหลายครั้ง เขาต้องเจอเรื่องแบบนี้อีกมาก เราฝึกให้เขาอดทนโดยไม่ต้องบอกต้องอดทน และให้เขารู้สึกว่าเราอยู่กับเขาในทุกสถานการณ์”

 

ไม่พลาดการ “ใช้ชีวิต”

“จิตวิญญาณของวัยเด็กคือการกิน เที่ยว เล่น” แม่แป๊วว่า ด้วยความคิดนี้เธอจึงไม่ให้ปล่อยวัยเด็กของลูกต้องเหี่ยวเฉาไปตามโรคร้าย ทุกเสาร์อาทิตย์ที่ไม่ต้องฉายแสง เธอพาลูกออกไปเที่ยวในสถานที่ที่ไม่มีคนพลุกพล่าน แม้ว่าภาวะของน้องอาจเสี่ยงต่อการติดเชื้อซึ่งอาจนำมาซึ่งความตายก็ตาม

“หมอคนหนึ่งถามว่า คุณแม่พาน้องไปเที่ยว ถ้ากลับมาแล้วน้องติดเชื้อตายจะเสียใจไหม พี่ก็ตอบว่าเสียใจเพราะการจาก แต่ไม่เสียใจเพราะพาลูกไปเที่ยว เพราะเรารู้ว่าความเสี่ยงมีอะไรบ้าง เรารู้ว่าพาเขาไปที่ที่ปลอดภัยพอสมควร ถ้าเขาจะติดเชื้อก็ถือเป็นเรื่องสุดวิสัย ถึงเวลาของเขาแล้ว แต่ ณ วันนั้นเราเห็นเขาสนุก ได้เที่ยวเหมือนที่เขาเคยเที่ยว เราจะไม่รอให้เขาหายแล้วค่อยเที่ยว เพราะไม่รู้ว่าเขาจะหายเมื่อไหร่ ถ้าเขาไม่หายล่ะ ถ้าปุ๊บปั้บเขาเป็นอะไรไป เขาก็จะไม่ได้ไปไหนเลย บางคนบอกว่าเป็นมะเร็งแล้วทำนู่นนี่ไม่ได้ แล้วมันต้องจำกัดไปตลอดชีวิตเลยเหรอ พี่คิดว่ามันอยู่ที่การมองและการใช้ชีวิตมากกว่า ยิ่งเรารู้ว่าเขาอาจจะมีเวลาน้อยกว่าคนอื่น เราก็ยิ่งต้องใช้ชีวิตให้มันคุ้มค่า จะไปกลัวมันทำไม 

หรือช่วงคีโม คนอื่นก็ไม่ให้ว่ายน้ำ เพราะกลัวเขาเป็นหวัดและติดเชื้อ แต่พี่มองว่า มะเร็งก็เป็นแล้ว เป็นหวัดนี่เรื่องเล็กมากเลย ถ้าไม่ให้เขาว่าย เขาก็วิ่งเล่นได้ตลอด หรือถ้าเขาเห็นน้องชายก็ว่ายได้ แต่เขาว่ายไม่ได้ เขาจะเป็นอย่างไร หรือเราจะไม่ให้ว่ายทั้งสองคนเลย? คือมันก็แล้วแต่จะคิด แต่ถามว่าแม่ที่ระวังผิดไหม ไม่ผิดนะคะ ไม่ถูกและไม่ผิด แล้วแต่ว่าเห็นเหมาะสมอย่างไรมากกว่า”

ฉะนั้น วิถีชีวิตของน้องธรรศจึงไม่ได้ต่างกับน้องธรณ์มากนัก แม้แต่ในช่วงที่ให้เคมีบำบัดรอบที่สอง น้องไม่ต้องไปนอนที่โรงพยาบาล ไปโรงเรียนตามปกติ บางวันเช้าไปโรงพยาบาล ตกบ่ายก็ขอคุณแม่ไปนอนกลางวันที่โรงเรียนอนุบาล หรือเวลาทำอะไรผิดก็โดนทำโทษไม่ต่างกับน้องธรณ์ บางครั้งอยากกินอาหารฟาสต์ฟู้ดเหมือนเด็กคนอื่น คุณแม่ก็ให้กินนิดหน่อยพอหายอยาก มีเรื่องที่ต้องระวังเพียงแค่เรื่องการทานผลไม้ที่จะไม่ทานนอกบ้าน และต้องล้างให้สะอาดก่อนปอกและทานทุกครั้ง

 

สอนลูกเรื่องความตาย

เมื่อถามน้องธรรศว่า รู้สึกอย่างไรตอนรู้ข่าวว่าเป็นมะเร็ง “เสียใจ ตกใจ แต่คุณแม่บอกว่าอย่างไรทุกคนก็ต้องตาย ความตายอยู่ข้างผมเสมอ ก็รอดูว่าจะเป็นอะไร เพราะเราอาจประสบอุบัติเหตุตายก็ได้” เด็กชายพูดหน้าเฉยกับเรื่องความตายได้อย่างน่าแปลกใจ เมื่อถามคุณแม่ว่าสอนน้องเรื่องความตายและมะเร็งอย่างไรกับเด็กเล็กๆ คุณแม่ให้ความเห็นว่า เด็กอายุเกือบ ๔ ขวบไม่เข้าใจหรอกว่ามะเร็งคืออะไรและน่ากลัวอย่างไร คงนึกย้อนไปเวลาที่บอกว่า ต้องไปโรงพยาบาลเพราะเป็นมะเร็ง ผู้ใหญ่ก็มักจะทำท่าตกใจ

สำหรับเรื่องความตาย ทุกครั้งเวลามีงานศพญาติ คุณแม่จะพาไปงานด้วย เมื่อน้องธรรศถามว่าทำไมตาย คุณแม่ก็บอกว่า คุณยายแก่มากเลยตาย คนเราแก่มากก็ตาย บาดเจ็บมากๆ ก็ตาย หรือป่วยมากๆ ก็ตาย คนต้องตายทุกคน พ่อแม่ก็ต้องตายเหมือนกัน พูดแบบนี้บ่อยๆ เข้าก็คล้ายๆ อัดเทปให้ลูกฟัง พอเราคุยเรื่องนี้กันเรื่อยๆ ความตายจึงเป็นเรื่องธรรมดาที่หยิบยกขึ้นมาคุยในบ้านได้ ไม่ใช่เรื่องอัปมงคลที่ไม่ควรพูดถึง

“มันแล้วแต่บ้านว่าจะมีมุมมองอย่างไร บ้านพี่ให้ความสำคัญกับงานตาย เพราะถือว่าเป็นงานสุดท้ายของคนๆ นั้น เราก็จะไปพร้อมลูก ฉะนั้น เราก็สอนเขาในกิจวัตรที่เราเจอ”

 

บทเรียนของผู้ดูแล

สำหรับหน้าที่ผู้ดูแลคนป่วยระยะยาว ไม่ใช่เรื่องง่าย ไหนจะมีภาระหน้าที่การงาน เฝ้าลูก และดูแลลูกอีกคน สำหรับแม่แป๊ว อย่างแรก ผู้ดูแลจะต้องดูแลใจตัวเองได้ก่อน เพราะถ้าใจไม่นิ่งก็ส่งผลต่อการปฏิบัติตัวกับลูกๆ และเรื่องอื่นๆ ในชีวิต

สิ่งที่แม่แป๊วทำได้อย่างแรกคือ “ทิ้งขยะ” เรื่องไหนไม่ใช่เรื่องที่เธอต้องเอามากลุ้มใจ เธอจะตัดออก เช่น อาการป่วยของลูกอยู่ขั้นไหน เธอจะมีหน้าที่แค่รับทราบ ส่วนคนที่ต้องดูแลจัดการต่อคือคุณหมอ เธอจะไม่ถามว่าลูกจะหายไหม เพราะเธอเข้าใจว่าโรคมะเร็งเป็นโรคที่ไม่แน่นอน บางคนมะเร็งหายไปนาน แต่สุดท้ายก็กลับมาอีก เธอจะไม่ถามว่าลูกเหลือเวลาอีกเท่าไหร่ เพราะมองว่า การนั่งนับถอยหลังว่าเหลืออีกกี่วันจะยิ่งทำให้ใจย่ำแย่ สู้มองที่ปัจจุบันว่าเราทำอะไรได้ดีกว่า และสุดท้ายเธอจะไม่ถามว่า ทำไมต้องเป็นลูกฉันที่เป็นมะเร็ง เพราะคำถามไหนที่ถามกับตัวเองมาระยะหนึ่งแล้วไม่ได้คำตอบ ต้องตัด หากไม่ตัด ก็ต้องอยู่กับปัญหาที่ไม่มีคำตอบนี้ตลอดไป

“มีครั้งเดียวที่คิดมากเรื่องลูก คือหลังจากรู้ข่าวได้สองอาทิตย์ เรานั่งมองเขาแล้วคิดว่าเขาจะอยู่ได้อีกนานไหม น้ำตาก็ไหล แต่จากนั้นก็ค่อยๆ โอเค เพราะจะนานหรือไม่นานไม่สำคัญ แต่อยู่แบบไหนสำคัญกว่า ฉะนั้น เราต้องปิดสวิตช์เป็น หรือทุกวันนี้ เราไปช่วยพ่อแม่และคนไข้หลายรายที่เป็นผู้ป่วยระยะสุดท้าย และบางคนก็เสียชีวิต ซึ่งเราจะไม่แบกปัญหาและทุกข์ของเขากลับบ้าน เพราะถ้าเราแบกกลับบ้าน เราจะไม่มีความสุขและไม่อยากทำสิ่งนี้อีก ฉะนั้นสิ่งที่จำเป็นคือ หมั่นเทขยะในใจบ่อยๆ และอย่าเอาทุกข์ของเขามาเป็นของเรา”

วิธีการหมั่นเทขยะของแม่แป็วอย่างหนึ่งคือตระหนักว่า เราได้ทำเต็มที่เท่าที่เราทำได้แล้ว และการช่วยเต็มที่ ไม่ได้แปลว่าต้องช่วยทุกอย่าง แต่ละคนต้องมีกรอบและเข้าใจข้อจำกัดของตัวเอง เช่น เมื่อมีญาติคนไข้โทรมาร้องไห้และเล่าความทุกข์ให้ฟังตอนตี ๒ แม่แป๊วก็จะฟัง แต่หลังจากตัดสาย เธอก็จะตัดเรื่องราวต่างๆ แล้วเข้านอน

อย่างที่สองคือ มุมมองในชีวิต เธอยกเรื่องน้ำครึ่งแก้วมาชวนคุย เราจะมองว่ามีตั้งครึ่งแก้วหรือมีเพียงครึ่งแก้วก็ได้ แล้วแต่มุมที่เรา “เลือก” จะมอง สำหรับแม่แป๊ว เธอเลือกมุมมองที่ทำให้สบายใจกับชีวิตในปัจจุบันขณะ ฉะนั้น น้องธรรศจะหายหรือไม่ ไม่มีใครทราบ แต่เธอเลือกมีความสุขได้ ณ ขณะนี้

“ในขณะที่ลูกป่วยมันก็มีความสุขแทรกเข้ามานะ เพียงแต่ว่าเราเห็นหรือเปล่า ถ้าเราเห็นแต่ว่าทุกข์ของเราเป็นเรื่องใหญ่ มันก็จะใหญ่มาก แม่บางคนบอกว่า ปีใหม่นี้แทนที่จะได้ไปเที่ยว พ่อแม่ลูกต้องมาโรงพยาบาล แต่ถ้ามองอีกมุมหนึ่ง พ่อแม่ลูกได้อยู่กับพร้อมหน้า แม้จะอยู่ห้องแคบๆ แต่ก็อยู่ด้วยกันเพื่อดูแลกัน บางคนเขาอาจอยู่บ้านใหญ่ๆ ได้ไปเที่ยว แต่เขาอาจจะไม่ได้เที่ยวด้วยกัน ฉะนั้น มันก็แล้วแต่ว่าเราจะมองมุมไหน ถ้าเรามองอย่างยอมรับในแบบที่เราเป็น มันก็สุขได้ระดับหนึ่งนะ”

และสุดท้ายคือต้องหาสมดุลให้ลูกอีกคน ด้วยเธอรู้ดีว่าน้องธรรศจะเจ็บป่วยในระยะยาว ฉะนั้น จึงพยายามหาสมดุลในการดูแลน้องธรณ์ไปด้วย เช่น พยายามหาเวลามาหาน้องธรณ์มากขึ้น จากที่น้องเคยนั่งรถตู้โรงเรียน คุณพ่อก็จะพยายามขับรถไปรับน้อง พาไปกินข้าว และพามาหาพี่ชายและคุณแม่ที่โรงพยาบาล 

“ถ้าลูกป่วยระยะยาว อย่าโฟกัสกับลูกที่ป่วย เพราะเด็กอีกคนก็มีความคิดมีหัวใจ ถ้าเขาป่วยยาวๆ แล้วคุณสนใจเอาใจแต่คนที่ป่วย กลายเป็นว่าอีกคนจะมีปัญหา เขารู้สึกถูกทิ้ง ทำไมคนโน้นได้โน่นนี่ และพี่จะไม่ชดเชยเวลาของลูกด้วยการตามใจ พี่เห็นว่าเขาก็เป็นเด็กคนหนึ่ง ถ้าทำผิดก็ถูกลงโทษ”

 

เรียนรู้จาก “ครูทางธรรม” ความเจ็บป่วยและความตาย

เมื่อถามน้องธรรศว่าได้เรียนรู้อะไรจากความเจ็บป่วยครั้งนี้ เด็กชายตอบฉะฉานว่า ได้ความอดทน และวิถีชีวิตที่ไม่เหมือนคนอื่น ต้องเข้าๆ ออกๆ โรงพยาบาลบ่อย ทำให้ได้เที่ยวน้อยกว่าคนอื่น และเมื่อถามคุณแม่ เธอบอกว่าได้มองความตายอย่างตรงไปตรงมา และเมื่อยอมรับได้ว่าจุดสุดท้ายคือความตายก็หมดความกลัว เมื่อหมดความกลัวก็กลับมาใช้ชีวิตในปัจจุบัน และเห็นค่าทุกๆ ขณะที่ลูกและตนเองยังมีชีวิตอยู่

“เขาสอนให้เห็น ให้รู้สึกว่าชีวิตเราใกล้ความตายมาก และทำให้เห็นความสำคัญของการใช้ชีวิตในปัจจุบันจริงๆ เพราะเราไม่รู้ว่า เวลาเขาจะหมดเมื่อไหร่ เพราะมะเร็งเป็นอะไรที่บอกยาก ฉะนั้น ปัจจุบันขณะทำอะไรได้ทำ อยากทำอะไรทำ เขาทำให้เราเห็นความสำคัญของปัจจุบันซึ่งเป็นสิ่งที่อยู่ตรงหน้าเรา เราจัดการได้เลย แต่อนาคตแค่วันพรุ่งนี้ เรายังไม่รู้ว่าจะเป็นอย่างไร อดีตก็ไม่นึกถึง เช่นว่า ทำไมลูกถึงป่วย เพราะว่าไม่มีทางหาคำตอบได้ ดังนั้น ถ้าถามพี่ว่าครูทางธรรมของตัวเองคือใคร คือลูก เพราะเขาทำให้เราสัมผัสความรู้สึกบางอย่าง เช่น ความตาย ได้แรงและลึก”

นอกจากน้องธรรศ แม่แป๊วยังมีครูอีกคนคือคุณพ่อของเธอเอง ผู้แสดงให้เห็นผ่านชีวิตของท่านว่าการเตรียมตัวตายนั้นเป็นไปได้ ตั้งแต่ก่อนเสีย ๗ ปี คุณพ่อได้เตรียมของชำร่วยงานศพของตัวเอง ก่อนเสีย ๔ เดือน เตรียมเช็คเงินสดให้ลูกๆ ทุกคน พร้อมบอกว่า นี่คือเงินก้อนสุดท้ายที่พ่อจะให้ลูก ในช่วงสุดท้ายของชีวิต แม้พ่อจะเริ่มถือจานใบเก่งไปทำสลัดเองไม่ไหว (และต้องซื้อใบใหม่) ท่านก็ชอบทำสิ่งต่างๆ ด้วยตัวเอง ดังนั้น จึงทำให้พื้นฐานความรักของครอบครัวนี้ไม่ใช่ความรักที่โอบอุ้มไปทุกอย่าง แต่เอื้ออาทรและให้พื้นที่กับจิตวิญญาณทุกดวงได้ทำสิ่งที่อยากทำ ในวันสุดท้ายของคุณพ่อจึงยังทำหลายๆ อย่างด้วยตัวเอง ยังทานข้าวด้วยตัวเอง โดยมีลูกชายช่วยป้อน และสวดมนต์แทบทั้งวัน ภาพคุณพ่อเอามือยกขึ้นจรดศีรษะทุกครั้งที่สวดครบรอบยังประทับอยู่ในใจแม่แป็ว จนหัวรุ่งอีกวันก็พบเห็นคุณพ่อเสียชีวิตในสภาพนอนหลับ หลังจากนั้น ครอบครัวจึงจัดงานรดน้ำศพที่บ้านและส่งมอบศพให้เป็นอาจารย์ใหญ่โรงพยาบาลศิริราชตามความตั้งใจของคุณพ่อ

---------------

แม้ว่า ทุกวันนี้อาการของน้องธรรศจะไม่น่าเป็นห่วง เพียงแค่ไปตรวจกับคุณหมอปีละครั้งเพื่อดูอาการ แต่หลังพูดคุยกันเสร็จ คุณแม่และลูกๆ ทั้งสองก็โบกแท็กซี่ไปเยี่ยมคุณพ่อที่เพิ่งออกจากห้องไอซียู วิถีที่เป็นไปของบ้านนี้จึงคล้ายเป็นภาพคู่ขนานของ “ความตาย” ที่ปรากฏขึ้นผ่านความเจ็บป่วย และ “ชีวิต” ที่เป็นไปตามปกติ สนุกสนานตามภาษาเด็ก และเปี่ยมค่า เพราะตระหนักถึงความสำคัญของชีวิต ณ ปัจจุบันขณะ

 

ที่มา:

คอลัมน์:

บุคคลสำคัญ: