Error message

  • Deprecated function: Methods with the same name as their class will not be constructors in a future version of PHP; views_display has a deprecated constructor in require_once() (line 3066 of /home/budnetorg/domains/budnet.org/public_html/sunset/includes/bootstrap.inc).
  • Deprecated function: The each() function is deprecated. This message will be suppressed on further calls in menu_set_active_trail() (line 2385 of /home/budnetorg/domains/budnet.org/public_html/sunset/includes/menu.inc).

ท่านสันติกโร: มะเร็งที่ว่างเปล่า

-A +A

 สันติกโร

โรเบิร์ต เดวิด ลาร์สัน (Robert David Larson) หรือ อดีต “สันติกโรภิกขุ” ศิษย์ท่านพุทธทาสแห่งสวนโมกข์ ชาวอเมริกันวัย ๕๘ ปี บอกกับเราว่า ‘ผมอาศัยมะเร็ง เพื่อเตรียมตัวว่า ไม่ต้องมีใครตาย’

เส้นทางอาสาสมัครสู่สวนโมกขพลาราม

จากบ้านเกิดที่นครชิคาโก มลรัฐอิลลินอยส์ ประเทศสหรัฐอเมริกา เติบโตในครอบครัวคริสเตียน นิกายโปรเตสแตนต์ สำเร็จการศึกษาศิลปศาสตรบัณฑิต สาขาวาทศิลป์ (Liberal Arts : Rhetoric) จากมหาวิทยาลัยอิลลินอยส์ (University of Illinois) ครั้นเมื่อตัดสินใจแล้วว่า “ทำงานเพื่อเงินไม่มีคุณค่า ต้องมีความหมายอะไรมากกว่านั้น” โรเบิร์ต ลาร์สัน จึงมาเข้าร่วมในหน่วยอาสาสมัครเพื่อสันติภาพสหรัฐอเมริกา (Peace Corps) โดยขอลงพื้นที่ริมฝั่งแม่น้ำโขง และเดินทางมาถึงเมืองไทยเมื่อปี พ.ศ. ๒๕๒๓

ครั้นโครงการจบลง ความสนใจเรื่องการบวชเพื่อหาประสบการณ์ชีวิตก็เริ่มต้นขึ้นในปี ๒๕๒๘ เมื่อมีโอกาสบวชที่วัดชลประทานรังสฤษฏ์ โดยมีพระเทพวิสุทธิเมธี (ปัญญานันทภิกขุ) เป็นพระอุปัชฌาย์ แล้วล่องใต้ศึกษาธรรมที่สวนโมกข์

จนกระทั่งถึงทุกวันนี้ แม้จะลาสิกขาจากสมณเพศมาตั้งแต่ปี ๒๕๔๗ แล้วก็ตาม แต่คุณค่าแห่งความกตัญญูกตเวทิตาที่บังเกิดขึ้นอย่างเต็มเปี่ยมในยามที่ต้องประสบกับความเจ็บป่วยรุนแรงด้วยโรคมะเร็งร้าย จึงทำให้ท่านตั้งปณิธานตอบแทนคุณแห่งพุทธศาสนาและเป็นอาจาริยบูชา โดยพยายามสืบสานถ่ายทอดความรู้ทั้งด้านปริยัติและปฏิบัติวิปัสสนาอันทรงคุณค่าให้กับเพื่อนชาวอเมริกันที่สนใจ สถานะในปัจจุบันของท่าน ‘สันติกโร’ จึงเป็นเจ้าของสถานที่ปฏิบัติธรรม Liberation Park หรือสวนโมกข์อเมริกา

 

รักแท้ท่ามกลางโรคมะเร็ง

๔ ปีที่แล้ว ท่านสันติกโร ตรวจพบว่าตนเองเป็นมะเร็งชนิดร้ายแรง ตอนที่ป่วยหนัก ท่านนึกถึงแฟนที่ต้องทำงานดูแลทุกอย่างคนเดียว ต้องเหนื่อยมาก เห็นความพยายามของเธอ ทำให้รู้สึกซาบซึ้งต่อความรักที่ได้รับ นึกถึงความรักของพ่อแม่ ความรักของเพื่อนและลูกศิษย์ที่ให้กำลังใจ คิดถึงปมลึกๆ ในใจว่า ตัวเองเป็นคนที่ไม่น่ารัก เห็นแรงจูงใจในอดีตที่ทำงานบางเรื่องอย่างหนักก็เพื่อให้คนอื่นมารัก ปมในใจที่รู้สึกว่า ตัวเองเป็นคนไม่ดีพอที่ใครจะรัก แต่ครั้นพอเป็นมะเร็ง ตัวตนภายในบางอย่างกลับอ่อนลง

ท่านสันติกโรกล่าว “การสร้างตัวตนมันใช้พลังเยอะ ถ้าเราอ่อนเพลียเพราะโรค ตัวตนจะบางลงระดับหนึ่ง ซึ่งถ้ามีธรรมะพอที่จะรู้ตัว เป็นโอกาสที่ดีในทางธรรม เมื่อตัวตนอ่อนลง ผมเริ่มยอมรับว่า ลูกศิษย์ที่รักเรา แฟนที่รักเรา นึกถึงอาจารย์พุทธทาสที่อดทนกับความงี่เง่าของผม ผมเป็นฝรั่งดื้อ ไปโต้เถียง ท่านก็ขำ ท่านก็อดทน อธิบายธรรมะให้ผมเยอะแยะ คนไทยที่เลี้ยงผมสมัยผมเป็นพระ มีคนอีกเยอะแยะที่ช่วยผม ผมเริ่มซาบซึ้ง แสดงว่าผมก็ไม่น่าเกลียดเท่าไหร่ มีคนดีๆ เป็นเพื่อน อย่างเช่น พระไพศาล วิสาโล และอีกหลายๆ คน แสดงว่าผมก็โอเค มีอะไรน่ารักบ้าง ทำให้ยอมรับตัวเองด้วย เท่ากับรักษาความรู้สึกลึกๆ ในใจ”

 

เมตตาและกตัญญู มุ่งสู่กตเวที

เรื่องที่ช่วยให้บรรเทาความเจ็บปวดได้ดีที่ท่านค้นพบก็คือ ‘การนึกถึงคนอื่น’ นึกถึงคนที่เดือดร้อนกว่า แต่ไม่ใช่นึกเพื่อ ‘สงสาร’ ท่านสันติกโรคลี่คลายคำนี้ว่า “สงสารคนอื่นเป็นกิเลส ไม่ใช่ธรรมะ กรุณาเป็นธรรมะ ส่วนสงสารเป็นกิเลสเพราะว่าตัวตนเต็ม อย่างสงสารคนป่วย นั่นถือว่าเราดีกว่าเขา หรือสงสารตัวเอง นั่น คือยึดมั่นว่าเราต่ำกว่า เราลำบากกว่า สงสารจึงเป็นกิเลส แต่ถ้ามีเมตตา มีกรุณาต่อเขานั้นไม่ใช่กิเลส”

ท่านเลือกใช้การแผ่เมตตาแบบง่ายๆ แค่นึกถึงผู้ที่เดือดร้อนด้วยโรคเดียวกัน เด็กๆ หรือคนสูงอายุที่รับการรักษาด้วยคีโม (เคมีบำบัด) ต้องลำบากมาก ท่านบอกว่าตัวเองมีพื้นความรู้ทั้งทางโลกและทางธรรม ทำให้ร่างกายกับจิตใจมีความพร้อม เมื่อแผ่เมตาไปเรื่อยๆ เกิดตระหนักรู้มากขึ้น ทำให้รู้สึกกตัญญูกตเวที ซึ่งสำหรับท่านแล้ว เห็นว่าลึกซึ้งกว่าเมตตา เพราะว่าตลอดเวลาที่รู้สึกกตัญญูกตเวที จะไม่มีเวลาสงสารตัวเอง จึงช่วยขจัดกิเลสบางอย่างที่อาจจะเกิดขึ้นได้ และนอกจากกตัญญูแล้ว ยังมีพลังกตเวทีคือการทำอะไรเพื่อทดแทนผู้มีพระคุณด้วย

 

บางสิ่งที่ต้องปลดวาง และบางอย่างที่ต้องเพิ่มพูน

ก่อนความเจ็บป่วยมาเยี่ยมเยือน ท่านเล่าว่า ท่านเป็นคนชอบวิพากษ์วิจารณ์แพทย์ และระบบโรงพยาบาล แต่ท้ายที่สุด ความเจ็บป่วยพาให้ต้องไปพึ่งทุกสิ่งนั้น ทำให้เกิดความรู้สึกละอาย และความกตัญญูกตเวทีที่เกิดขึ้น กลับเป็นธรรมะที่ช่วยให้ปล่อยวางได้ และยอมรับว่าตนเองต้องอยู่ในการรักษา ต้องพึ่งพิงอาศัยสิ่งที่ตนเองเคยวิจารณ์เอาไว้

จากความเมตตาและกตัญญูกตเวที ค่อยพัฒนาไปสู่การให้อภัยและมุทิตามากขึ้น ท่านเล่าว่า “เลือกมุทิตาเพราะเป็นคนชอบวิพากษ์วิจารณ์ และชอบหงุดหงิด ผมก็ถือว่า การให้อภัยกับมุทิตา แก้กิเลสของผม ซึ่งสำหรับการรักษาตัว สู้กับกิเลสตัวเองก็ช่วยได้เยอะ กิเลสพื้นๆ ของผมคือใจร้อน โมโห หงุดหงิด ไม่ได้โมโหเพราะเป็นมะเร็ง แต่โมโหเพราะ ‘โง่’ โง่มาหลายปี ตอนเป็นพระก็ค่อยๆ ลด แต่ตอนป่วยมีโอกาสลดลงได้เยอะ”

ท่านเล่าให้ฟังพร้อมเสียงหัวเราะอย่างอารมณ์ดี และนี่คืออีกสิ่งหนึ่งที่ท่านบอกว่า ผู้ป่วยควรจะฝึกให้มีขึ้น คือ อารมณ์ขันกับบางเรื่องราวของความเจ็บป่วยที่เกิดกับตนเอง

 

พลังสำคัญแห่งการรักษาไม่ใช่เพียงเรื่องร่างกาย

ท่านสันติกโรสะท้อนว่า การฝึกที่จอยู่กับปัจจุบันของโรค ไม่มีคำว่า ‘ง่าย’ หรือ ‘ยาก’ ในระหว่างกระบวนการรักษา มีแต่คำว่า ‘ต้องทำอะไร?’ ทุกครั้งที่นึกถึงคำสอนของท่านอาจารย์ว่า 'ธรรมะคือหน้าที่...หน้าที่คือธรรมะ' เมื่อป่วยก็คิดว่า อะไรคือหน้าที่ เรื่องรักษาเป็นหน้าที่ของหมอ ส่วนผู้ป่วยมีหน้าที่อะไรบ้าง เช่น ไม่ดื้อ รับประทานอาหารที่ดี ออกกำลังกาย ขอบคุณผู้ที่ช่วยเหลือและดูแล และก็ดูแลใจตัวเอง ฯลฯ

ท่านเล่าว่า “ความเห็นของผม พลังสำคัญแห่งการรักษาไม่ใช่เรื่องร่างกาย มันเนื่องกับลมปราณ ถ้าหายใจเป็น ลมปราณจะดี ร่างกายจะดีขึ้น อยู่ที่โรงพยาบาลบางวัน ผมทำอานาปานสติ และทำชี่กง”

การตระหนักรู้อยู่กับร่างกายและลมหายใจอยู่เนืองๆ มีส่วนช่วย ท่านมองเห็นความเป็นจริงว่า “เวทนาหรือความรู้สึกสุขทุกข์ มันมีอยู่ตามธรรมชาติ ไม่ใช่ปัญหา ตัวเวทนาเป็นแค่ชีวิต พระพุทธเจ้ามีเจ็บป่วย แต่ท่านไม่มีทุกข์ เพราะไม่มีกิเลส ไม่โต้ตอบเวทนาโดยกิเลส เลยใจเย็น เป็นอรหันต์ เป็นพระพุทธเจ้า”

 

บทเรียนจากท่านสันติกโร

 

ท้ายที่สุด ท่านย้ำกับเราว่า “อนัตตา ตัวตนของมะเร็งไม่มี ตัวผู้เป็นมะเร็งหาไม่พบ ผู้รักษาก็หาไม่เจอ มีแต่กระบวนการมะเร็ง กระบวนการรักษา ความตายก็เหมือนกัน ผู้ตายก็หาไม่เจอ กระบวนการการตายก็มี แต่ไม่ต้องมีผู้ตาย จะทำให้เรียบง่ายกว่า ผมอาศัยมะเร็ง เพื่อเตรียมตัวว่า ไม่ต้องมีใครตาย” การฝึกมองทุกสิ่งทุกอย่างให้เห็นว่านั่นเป็นกระบวนการที่ล้วนเปลี่ยนแปลงไปตลอดเวลา นี่แหละคือบทเรียนที่ได้ฟังแล้วรู้สึกปีติเป็นที่สุด

 

 วรรณวิภา มาลัยนวล

 ๑ พฤษภาคม ๒๕๕๘

คอลัมน์:

บุคคลสำคัญ: