Error message

  • Deprecated function: Methods with the same name as their class will not be constructors in a future version of PHP; views_display has a deprecated constructor in require_once() (line 3066 of /home/budnetorg/domains/budnet.org/public_html/sunset/includes/bootstrap.inc).
  • Deprecated function: The each() function is deprecated. This message will be suppressed on further calls in menu_set_active_trail() (line 2385 of /home/budnetorg/domains/budnet.org/public_html/sunset/includes/menu.inc).

การตายที่บ้าน มองเขา มองเรา ย้อนอดีต ดูปัจจุบัน

-A +A

           ก่อนหน้าการกำเนิดขึ้นของโรงพยาบาล คนโดยมากย่อมตายกันที่บ้าน ดังวลีที่เราได้ยินกันว่า “บ้านเกิด เรือนตาย” ในสังคมก่อนสมัยใหม่โดยมากผู้คนใช้ชีวิตอยู่กับบ้าน ทำมาหากินใกล้บ้าน ประกอบอาชีพด้านเกษตรกรรมเป็นส่วนใหญ่ สังคมขนาดใหญ่ที่รู้จักคือหมู่บ้านที่ตนอยู่อาศัยมากกว่าสถานที่อื่น คนจำนวนมากสามารถใช้ชีวิตตั้งแต่เกิดจนตายได้โดยไม่ต้องออกเดินทางไปไหนไกลๆ จากบ้านเกิดเลย แต่การขยายตัวของเมืองสู่การพัฒนาชนบท ทำให้ผู้คนเริ่มขยับขยายโยกย้ายถิ่นฐาน อาศัยการพัฒนาระบบคมนาคมผ่านถนนหนทางและยานพาหนะต่างๆ ทำให้วิถีชีวิตที่ผู้คนคุ้นเคยค่อยๆ เปลี่ยนแปลงไป 

           นักประวัติศาสตร์ชาวฝรั่งเศสคนหนึ่งเคยศึกษาการเปลี่ยนแปลงทัศนคติของผู้คนในโลกตะวันตกที่มีต่อความตายจากอดีตจนปัจจุบัน ซึ่งบอกเล่าบางแง่มุมของการตายที่บ้านก่อนหน้ายุคสมัยใหม่ไว้ว่า ในยุคกลาง (Middle Age) เมื่อคนรู้ตัวว่ากำลังจะตาย เขาจะตระเตรียมเรื่องราวต่างๆ ที่จำเป็นเอาไว้ก่อนเพื่อที่จะเผชิญหน้ากับความตาย โดยมากผู้คนในสมัยนั้นจะมีความรู้ความเข้าใจในเรื่องการเตรียมตัวตายดี เมื่อรู้ตัวอยู่ว่าความตายใกล้จะมาถึง พวกเขามักจะล้มตัวลงนอนอย่างสงบบนเตียงนอนที่จะแปรเปลี่ยนไปเป็นเตียงสำหรับนอนตายด้วย 

           การตายที่บ้านในโลกตะวันตกแต่เดิมไม่ได้เป็นเรื่องส่วนตัว หากคือพิธีกรรมที่มีความเป็นสาธารณะด้วย ผู้คนสามารถเดินเข้าออกรอบๆ เตียงของคนตายได้โดยอิสระ พวกเขาจึงถูกห้อมล้อมไปด้วยผู้คนหลากหลาย ในชั้นแรกผู้คนที่กำลังจะตายอาจจะคร่ำครวญถึงความอาลัยอาวรณ์ต่อสิ่งที่กำลังจะสูญเสีย ไม่ว่าจะเป็นสิ่งของนอกตัวหรือผู้คนที่รักใคร่ ต่อเมื่อสะสางเรื่องทางโลกแล้ว จึงเป็นขั้นตอนทางศาสนา หากผู้ใกล้ตายนับถือคริสต์ศาสนาอย่างเคร่งครัด มักจะเชิญบาทหลวงมาเพื่อทำพิธีศีลเจิมคนไข้ หรืออาจจะกล่าวคำสารภาพบาปของตนออกมา หรือกล่าวคำขอโทษและให้อภัยต่อญาติมิตร บางคนอาจจะนอนหันหน้าไปทางทิศตะวันออกอันเป็นที่ตั้งของกรุงเยรูซาเล็ม บางคนอาจจะเอามือมาประสานกันไว้ที่หน้าอกซึ่งเป็นท่าสำหรับการตาย ส่วนความเชื่อในศาสนายูดาย ผู้ที่กำลังจะตายมักหันหน้าเข้าหาผนัง และเมื่อจัดการเรื่องราวต่างๆ เรียบร้อยแล้ว จึงเป็นเวลาที่จะรอความตาย ซึ่งหากผู้ใกล้ตายหลงลืมขั้นตอนใดไป ผู้ที่อยู่รอบๆ เตียงอาจช่วยบอกกล่าวให้ทราบ 

           ในสมัยก่อนผู้เข้ามาดูใจผู้ใกล้ตายจะมีตั้งแต่พ่อ แม่ ลูก เพื่อนบ้าน และญาติมิตร เป็นต้น และโดยมากผู้ใกล้ตายต่างรับรู้และยอมรับสิ่งที่กำลังจะเกิดขึ้นอย่างเรียบง่าย ไม่ใคร่จะมีการดิ้นรนหรือขัดขืนต่อความตายที่คืบคลานเข้ามา เพราะโดยมากเห็นว่าการตายเป็นส่วนหนึ่งของชีวิต ขั้นตอนของการตายได้ดำเนินมาในลักษณะนี้นับร้อยๆ ปี ก่อนจะเกิดความเปลี่ยนแปลงในราวช่วงกลางคริสต์ศตวรรษที่ ๑๙ 

           ความตายในช่วงนั้น กลายเป็นของต้องห้าม แม้กระทั่งเมื่อคนคนหนึ่งใกล้จะตายแล้ว ญาติมิตรของเขาจะหลีกเลี่ยงการพูดถึงเรื่องนี้ สาเหตุหลักๆ มาจากทัศนคติที่มองเห็นชีวิตเป็นเรื่องความสุขตามคติสมัยใหม่ที่มองเห็นแต่ความเจริญก้าวหน้า ความตายจึงเป็นเรื่องตรงข้ามและทำให้ชีวิตไม่สามารถดำเนินไปสู่เป้าหมายของการพัฒนาได้ ผนวกกับความก้าวหน้าของเทคโนโลยีทางการแพทย์ ทำให้เรือนตายเปลี่ยนไป การรักษาพยาบาลที่ก้าวหน้าและซับซ้อนกว่าเดิม ได้ทำให้การดูแลรักษาผู้ป่วยที่บ้านทำได้ยากขึ้น คนส่วนใหญ่จึงไม่ได้ตายที่บ้านโดยมีญาติมิตร คนรู้จักมาเยี่ยมหาดูใจ แต่ต้องไปตายอยู่ในโรงพยาบาลอย่างโดดเดี่ยว โรงพยาบาลกลายเป็นเรือนตายในโลกยุคใหม่ การตายที่เคยมีความหมายทางพิธีกรรมในแง่ส่วนตัว ตลอดจนทางสังคมและศาสนา โดยมีสมาชิกครอบครัวและชุมชนเข้ามาเกี่ยวข้อง กลับกลายเป็นเรื่องความรู้เชิงเทคนิคในทางการแพทย์สมัยใหม่ และคนที่เกี่ยวข้องและสำคัญต่อการตายกลายเป็นบุคลากรทางการแพทย์แทน 

           นอกจากประเด็นเรื่องการแพทย์ สภาพสังคมสมัยใหม่ที่ผู้คนอยู่กันในเมืองขนาดใหญ่ ทำให้สภาพความเป็นอยู่แบบเดิมที่ผู้คนคุ้นเคยใกล้ชิดกันในชุมชนเล็กๆ ขาดหายไป การมีชุมชนมาช่วยเหลือหรือแบกรับภาระในการดูแลผู้ป่วยเรื้อรังหรือผู้ป่วยระยะท้ายเหมือนในอดีตหรือเหมือนในสังคมชนบทจึงเป็นเรื่องยาก 

           แม้ว่าในปัจจุบัน แนวคิดเรื่องการดูแลผู้ป่วยแบบประคับประคองจะมีบทบาทในวงการแพทย์มากขึ้น ทำให้การดูแลผู้ป่วยระยะท้ายที่มีมิติเชิงสังคมวัฒนธรรมเป็นอีกทางเลือกหนึ่ง ประจวบกับสังคมเองเริ่มรับรู้และเรียกร้องทางเลือกดังกล่าว นอกเหนือจากการใช้โรงพยาบาลเป็นเรือนตายในรูปแบบเดิมๆ แต่ความต้องการกับความเป็นจริงในปัจจุบันยังไม่เป็นสิ่งเดียวกัน ในสหรัฐอเมริกา มีข้อมูลว่าผู้คนราวหนึ่งในห้าตายที่บ้าน ส่วนที่เหลือจะตายในสถานดูแลหรือโรงพยาบาล ปรากฏการณ์ดังกล่าวอาจสะท้อนว่า การดูแลผู้ป่วยระยะท้ายที่บ้านไม่ใช่เรื่องง่าย ทั้งเงื่อนไขเรื่องภาระของผู้ดูแล สภาพความเจ็บป่วยของผู้ป่วยเอง หรือสภาพแวดล้อมของบ้านที่จะเป็นเรือนตาย และสิ่งสำคัญคือ การตายเป็นเรื่องเฉพาะตัว แต่ละคนย่อมตายไม่เหมือนกัน การจะจัดการให้การเตรียมตัวตายที่บ้านเป็นเรื่องมาตรฐานที่ทำกันได้ทั่วไปจึงเป็นไปได้ยากขึ้นไปอีกชั้นหนึ่ง

           สิ่งที่กล่าวมาข้างต้นอาจเป็นเหตุผลให้หลายคนหรือหลายครอบครัวยังคงเลือกโรงพยาบาลเป็นเรือนตายอยู่เนื่องจากสะดวกในการดูแลรักษาผู้ป่วย แต่ยังพอจะมีหลักการกว้างๆ ในเรื่องการเตรียมตัวตายที่บ้านอยู่ ซูซาน เซลิเกอร์ (Susan Seliger) เขียนบทความให้คำแนะนำคร่าวๆ เรื่องการเตรียมตัวสำหรับผู้ที่ต้องการตายที่บ้านในสหรัฐอเมริกา โดยนำเสนอประเด็นต่างๆ ที่ควรพิจารณา เช่น 

           การจัดเตรียมสถานที่สำหรับผู้ป่วยมีจุดหมายเพื่อให้ผู้ป่วยได้รับความสะดวกทั้งทางร่างกายแลจิตใจ นับตั้งแต่ห้องที่เหมาะสมให้ผู้ป่วยนอน อาจไม่ใช่ห้องนอนเดิม แต่ปรับเปลี่ยนเป็นห้องที่กว้างที่สุดในบ้าน เพื่อสะดวกในการดูแลหรือทำกิจกรรมอื่นๆ หรือเป็นห้องที่สะดวกในด้านอื่นๆ เช่น ใกล้ห้องน้ำห้องครัว เป็นต้น เรื่องการปรับปรุงห้องควรให้มีความเป็นส่วนตัวสำหรับผู้ป่วยด้วย เช่น การติดม่านเพื่อแบ่งพื้นที่ เป็นต้น ในกรณีผู้ป่วยเคลื่อนไหวลำบากควรจัดเตรียมพื้นที่ให้เหมาะสมกับการใช้อุปกรณ์ช่วยการเคลื่อนไหวของผู้ป่วย เช่น ไม้เท้า เครื่องพยุง เก้าอี้รถเข็น และลดสิ่งกีดขวางต่างๆ เป็นต้น

           การสร้างบรรยากาศให้ผู้ป่วยได้ใช้ชีวิตอย่างที่คุ้นเคยเป็นสิ่งสำคัญ แม้ว่าความเจ็บป่วยทางร่างกายบางกรณีจะเป็นข้อจำกัดทำให้ผู้ป่วยไม่สามารถมีกิจกรรมเหมือนเดิมได้ แต่การคำนึงถึงเรื่องการอำนวยความสะดวกในมิติดังกล่าวจะเป็นประโยชน์ต่อผู้ป่วยและผู้ดูแล ผู้ป่วยจำนวนมากมีแนวโน้มจะไปไหนมาไหนได้ยาก การนั่งบนเก้าอี้หรือที่นั่งสบายๆ ที่เขาคุ้นเคย ช่วยให้เขารู้สึกดี หากเขาต้องการดูหนัง ฟังเพลงแต่เริ่มมีปัญหาเรื่องการได้ยิน การใช้หูฟังเพื่อช่วยในการรับฟังหรือเสพสื่อต่างๆ เป็นทางเลือกที่ดี เพราะจะช่วยลดเสียงรบกวนสมาชิกในครอบครัวและผู้ป่วยยังมีความสุขกับมุมของตัวเองได้ 

           การดูแลอำนวยความสะดวกกับกิจกรรมทางกายเป็นสิ่งสำคัญเช่นกัน ในกรณีที่ผู้ป่วยสามารถดูแลตนเองเรื่องการขับถ่ายได้ ควรปรับปรุงห้องน้ำให้เหมาะกับสภาพผู้ป่วยด้วยการติดตั้งราวหรือที่นั่งเสริมในห้องน้ำ หรือปูพื้นด้วยวัสดุกันล้ม หากผู้ป่วยต้องเคลื่อนที่ไปยังมุมต่างๆ ภายในบ้าน หรือติดตั้งสวิทช์อัตโนมัติเพื่อช่วยให้ผู้ป่วยมองเห็นทางเดินในยามมืดได้สะดวก 

           ในกรณีที่ผู้ป่วยต้องนอนมากขึ้น การจัดเตรียมเรื่องการขับถ่ายใกล้ๆ ที่นอนเป็นเรื่องที่ต้องระมัดระวัง เนื่องจากการใช้กระโถนสำหรับขับถ่ายอาจทำให้ผู้ป่วยรู้สึกแย่เกี่ยวกับตัวเอง ต้องพิจารณาและหารือกับผู้ป่วยก่อน บางกรณีการมีอุปกรณ์ช่วยหายใจจะแก้ปัญหาการหายใจไม่ออก ผู้ดูแลควรฝึกการใช้งานและการดูแลเพื่อไม่ให้อุปกรณ์ดังกล่าวกีดขวางการเคลื่อนไหวของผู้ป่วย 

           กรณีที่ผู้ป่วยมีความปวดมากและต้องใช้ยาแก้ปวด การใช้เครื่องช่วยให้ยาแก้ปวดแบบจ่ายยาเข้าเส้นเลือดอัตโนมัติหรือชนิดที่ต้องใช้เสาแขวน อาจไม่จำเป็นสำหรับกรณีทั่วไป เพราะปัจจุบันสามารถใช้ยากินหรือแผ่นแปะลดปวดได้ และเมื่อผู้ป่วยต้องนอนเป็นส่วนใหญ่ เตียงแบบโรงพยาบาลจะช่วยเหลือผู้ป่วยได้มาก แม้ว่าคนส่วนใหญ่จะไม่ชินกับการเปลี่ยนเตียงที่เคยนอนมานอนเตียงแบบนี้ก็ตาม 

           ปัญหาใหญ่อีกเรื่องหนึ่งของการดูแลผู้ป่วยคือการหาคนมาช่วยดูแล การมีทีมที่มีความรู้และประสบการณ์มาช่วยเหลือและให้คำแนะนำแก่ผู้ดูแลถึงบ้าน นอกจากจะช่วยผู้ป่วยแล้ว ยังจะช่วยผู้ดูแลด้วยให้มีเวลาได้พัก ได้ผ่อนคลายมากขึ้นด้วย 

           การเตรียมตัววางแผนเพื่อปรับปรุงสภาพบ้านแต่เนิ่นๆ ไม่ว่าการเตรียมสิ่งอำนวยความสะดวก และเตรียมพร้อมในการหาผู้ช่วยเหลือล่วงหน้า ก่อนผู้ป่วยจะเข้าสู่อาการระยะท้ายและความตายจึงเป็นเรื่องสำคัญ เพราะหลายสิ่งที่ต้องทำคงไม่สามารถทำได้ง่ายในเวลาฉุกละหุก 

 



           สำหรับในสังคมไทย แนวโน้มเรื่องการตายที่เคลื่อนย้ายจากบ้านไปยังโรงพยาบาลไม่แตกต่างจากสังคมตะวันตกมากนัก โดยเฉพาะอย่างยิ่งผู้คนในเมืองใหญ่ แต่ในสังคมชนบทหรือในเมืองขนาดเล็ก แม้จะต้องเดินทางไกลข้ามจังหวัดเพื่อไปรักษาตัวในโรงพยาบาลขนาดใหญ่ที่มีชื่อเสียง แต่เมื่อรู้ตัวว่าใกล้จะถึงวาระสุดท้ายแล้ว ผู้คนจำนวนไม่น้อยยังคงต้องการกลับมาตายที่บ้าน นอกจากข้อจำกัดเรื่องพื้นที่ของโรงพยาบาลแล้ว เป็นเพราะในหลายชุมชนยังมีความเป็นครอบครัวที่ช่วยเหลือเกื้อกูลกันอยู่ ประกอบกับหลายสิบปีที่ผ่านมา ระบบสุขภาพไทยยังได้พัฒนาระบบการดูแลแบบต่อเนื่องจากโรงพยาบาลถึงบ้าน ทำให้การตายที่บ้านมีความเป็นไปได้มากขึ้น

           ดังคุณเตือนใจ เทียนทอง พยาบาลศูนย์การดูแลต่อเนื่อง กล่าวถึงระบบการดูแลผู้ป่วยนับแต่อยู่ในโรงพยาบาลนครปฐมจนถึงบ้านว่า เริ่มจากวางแผนจำหน่ายผู้ป่วยจากหอผู้ป่วย โดยดูความพร้อมของผู้ป่วยและครอบครัว ประสานงานและช่วยเหลือเรื่องการดูแลที่บ้าน ไม่ว่าจะเป็นการส่งต่อผู้ป่วยเพื่อการดูแลต่อเนื่อง การประสานงานกับหน่วยงานในพื้นที่ โดยใช้ระบบโซเชียลมีเดีย เช่น ไลน์ ในการดูแล การพยาบาลผู้ป่วยและครอบครัว ลงไปเยี่ยมบ้านผู้ป่วยถึงบ้าน และการสร้างเครือข่ายการดูแล เช่น รพ.สต. อสม. และองค์การปกครองส่วนท้องถิ่น เพื่อร่วมเยี่ยมบ้านด้วยกัน ตลอดจนให้คำปรึกษาทางโทรศัพท์ เปิดให้ผู้ป่วยและครอบครัวสอบถามปัญหาได้ตลอดเวลา เพื่อสร้างความมั่นใจในการดูแลที่บ้านได้ แม้กระทั่งการให้ยืมอุปกรณ์ทางการแพทย์ เช่น ที่นอนลม ที่ดูดเสมหะ สำหรับผู้ป่วยที่จำเป็นต้องใช้ รวมถึงการสนับสนุนเรื่องความรู้ต่างๆ ในการดูแลต่อเนื่อง ไม่ว่าการทำหนังสือคู่มือความรู้เรื่องโรคต่างๆ ตลอดจนฝึกเรื่องการดูแลให้แก่ผู้ป่วยและญาติก่อนจะต้องกลับบ้าน เป็นต้น

           และสำหรับหลายครอบครัวซึ่งมีผู้ป่วยมะเร็งในระยะท้ายที่พร้อมจะกลับไปดูแลที่บ้าน โรงพยาบาลจะดูแลเรื่องอาการระยะสุดท้าย โดยเฉพาะเรื่องความปวด ไม่ว่าจะเป็นการปรับเรื่องยาแก้ปวด การทำให้ผู้ป่วยสุขสบาย การจัดสิ่งแวดล้อมให้เหมาะต่อการดูแลที่บ้าน ตลอดจนเครื่องมือต่างๆ ในการดูแลจิตใจ เช่น ซีดีการบอกทางของพระไพศาล วิสาโล เป็นต้น

           เรื่องราวเกี่ยวการตายดีที่บ้านในสังคมไทย ซึ่งรวบรวมประสบการณ์หลากหลายในการติดตามดูแลผู้ป่วยระยะท้ายของบุคลากรสุขภาพและครอบครัวผู้ป่วยในแง่มุมต่างๆ สามารถติดตามได้จาก https://www.gotoknow.org/blog/pal2know7

 

 

           แม้ว่าการได้ตายที่บ้านอาจจะเป็นเป้าหมายเชิงอุดมคติสำหรับหลายๆ คน แต่การตายที่บ้านในปัจจุบันยังมีเงื่อนไขข้อจำกัดอีกมาก ทำให้อาจเป็นเรื่องยากที่จะทำได้ในทุกกรณี แต่ถ้าเราพิจารณาให้ดี เป้าหมายสำคัญของการตายที่บ้าน เป็นไปเพื่อให้ผู้ป่วยและผู้ดูแลอันหมายถึงครอบครัว ญาติมิตรพี่น้อง ได้รับความพึงพอใจและความสะดวกสบายในช่วงสุดท้ายของชีวิต ดังนั้น หากเป้าหมายนี้สามารถนำไปปรับใช้กับการดูแลได้ ไม่ว่าจะต้องไปเตรียมตัวตายในที่ใด การเผชิญความตายอย่างสงบน่าจะไม่ผิดเพี้ยนไปได้ 

 

เอกสารประกอบการเขียน 

Dying At Home: The Basics [Online]. (n.d.). Available from: http://www.webmd.com/healthy-aging/questions-answers-dying-at-home-medref 

Philippe Ariès. The hour of our death. Translated by Helen Weaver. Harmondsworth, Middlesex : Penguin Books, 1983.

------------------. Western attitudes toward death; from the Middle Ages to the present. Translated by Patricia M. Ranum. Baltimore : Johns Hopkins University Press, 1974.

Susan Seliger. Preparing for a Loved One to Die at Home [Online]. ( 2013, January, 14). Available from: http://newoldage.blogs.nytimes.com/2013/01/14/preparing-for-a-loved [2015, November, 13]. 

Linda G. Beeler. Turning a Home Into a Hospital [Online]. (2012, November 26). Available from: http://newoldage.blogs.nytimes.com/2012/11/26/turning-a-home-into-a-hosp... [2015, November, 13]. 

 



บ้านที่น่าตายของสุภาพร พงศ์พฤกษ์

           แม้คุณสุภาพร พงศ์พฤกษ์ จะเสียชีวิตไปนานกว่าสิบปีแล้ว แต่เรื่องราวของเธอยังเป็นประโยชน์ต่อการเรียนรู้เรื่องการดูแลผู้ป่วยระยะสุดท้ายในหลากหลายแง่มุม แง่มุมหนึ่งคือการเป็นตัวอย่างของคนที่ไม่เพียงแค่ทำบ้านให้น่าอยู่ แต่ยังทำบ้านให้น่าตายด้วย 

           สุรภี ชูตระกูล เพื่อนสนิทที่ดูแลสุภาพรมานับแต่เริ่มเป็นมะเร็งจนถึงวาระสุดท้ายของชีวิตกล่าวถึงความคิดของสุภาพรในการตัดสินใจรักษาตัวที่บ้าน ไม่ไปโรงพยาบาลแม้ในวาระสุดท้ายว่า สุภาพรไม่ชอบเรื่องการผ่าตัดหรือเคมีบำบัดอยู่แล้ว แต่เลือกใช้วิธีที่ไม่ต้องรุนแรงกับร่างกาย จะเห็นได้จากระยะแรกของการเป็นมะเร็ง เธอเลือกพักรักษาตัวอยู่ที่อาศรมวงศ์สนิท คลอง ๑๕ จังหวัดนครนายก (สถานที่ภาวนาเพื่อพักฟื้นร่างกายและจิตใจของนักกิจกรรมที่อ่อนล้าจากการทำงานเปลี่ยนแปลงสังคม) เพราะแวดล้อมไปด้วยธรรมชาติ และสามารถดูแลตัวเองตามต้องการได้ คือการอยู่อย่างสงบนิ่ง ได้ฝึกภาวนา โยคะ ดูแลเรื่องอาหารตามแนวทางชีวจิต มีนักบวชจากหลายๆ ลัทธิความเชื่อมาแลกเปลี่ยนมุมมองต่อชีวิต อาศรมจึงเป็นสถานที่เอื้อต่อการรักษาตัวของเธอมากที่สุด 

           ต่อมาเมื่อเธอตัดสินใจย้ายกลับไปอยู่บ้านเกิดที่ภาคใต้เพื่อใช้เวลาที่เหลืออยู่ใกล้ชิดกับแม่ เธอจึงสร้างบ้านถั่วพู ซึ่งเป็นบ้านในฝันที่เธอจะใช้ชีวิตอย่างมีความสุขจนกระทั่งวาระสุดท้ายของชีวิต เพราะเธอเป็นคนออกแบบบ้านเอง เธอสร้างบ้านอย่างประณีต รอบๆ ตัวบ้านจะปลูกไม้ผลไม้ประดับ สมุนไพร ร่มรื่น มีม้านั่งแบบอินเดียไว้นั่งกินน้ำชานอกบ้าน ข้าวของเครื่องใช้ต่างๆ ล้วนแล้วแต่เลือกอย่างพิถีพิถัน จัดบ้านในแบบที่ชอบ มีมุมส่วนตัวสำหรับเขียนหนังสือ นั่งสมาธิ ปรุงยาได้ เพื่อให้บ้านเป็นสถานที่ที่เธอใช้ชีวิตอย่างมีความสุข ก่อนอาการจะพัฒนาไปจนถึงระยะสุดท้ายในเวลาต่อมา สุภาพรจึงใช้ชีวิตอย่างมีความสุขกว่าตอนไม่เป็นมะเร็งเสียอีก โดยเฉพาะในช่วงท้ายของชีวิต เพราะเธอเริ่มละวางได้ ไม่ค่อยยึดติดกับสิ่งใดๆ แล้ว สภาพของบ้านจึงเปลี่ยนจากความพิถีพิถันไปสู่ความเรียบง่ายตามสภาวธรรมภายในที่พัฒนา โต๊ะเขียนหนังสือ ผ้าปูโต๊ะสวยๆ จะหายไปเปลี่ยนมาเป็นการจัดบ้านที่เรียบง่าย ข้าวของกระจุกกระจิกที่เธอรักไม่ใช่สิ่งสำคัญอีกต่อไป เธอเริ่มฟังเทปธรรมะ มีภาพของพระที่เคารพนับถือและภาพที่ให้แรงบันดาลใจ ตลอดจนวางเตียงนอนให้มองเห็นต้นไม้รอบบ้านที่เป็นชีวิตจิตใจของเธอได้ 

           แต่องค์ประกอบของบ้าน คงไม่ใช่หมายถึงแต่เฉพาะวัตถุทางกายภาพ หากยังรวมถึงผู้คนที่แวดล้อมหรืออยู่ในบ้านด้วย ซึ่งเป็นสิ่งที่สร้างได้ยากกว่าบ้านทางกายภาพ เพราะต้องใช้เวลาบ่มเพาะจนเกิดความสัมพันธ์ต่อกัน ในกรณีของสุภาพร ความที่เธอเป็นคนทำงานช่วยเหลือผู้อื่นมาโดยตลอด จึงทำให้มีญาติพี่น้อง แพทย์ พยาบาล และเพื่อนๆ ที่เข้าใจและยอมรับความคิดความเชื่อของเธอคอยช่วยเหลือในยามป่วยหนักจนถึงช่วงสุดท้ายของชีวิต ไม่ว่าจะเป็นคณะแพทย์พยาบาลที่เธอไปช่วยจัดอบรมธรรมะกับการเยียวยาให้ ซึ่งยินดีมาช่วยให้การดูแลอาการต่างๆ เช่น การดูแลแผลกดทับ การดูแลเรื่องออกซิเจน และอื่นๆ เท่าที่จะเป็นไปได้ แม้ว่าเธอจะปฏิเสธการรักษาแบบใหม่ในโรงพยาบาลก็ตาม หรือเพื่อนๆ ที่ผลัดเปลี่ยนกันมาเยี่ยมและดูแลเธอเป็นระยะๆ บางคนมาช่วยเล่นดนตรีที่สุภาพรชอบจนกระทั่ง ๔-๕ วันสุดท้ายก่อนเสียชีวิต แม้แต่คนที่ไม่ได้มาเองเพราะเธอมีเพื่อนๆ อยู่ทั่วโลก แต่ก็ส่งการ์ดอวยพรมาให้ ซึ่งเพื่อนๆ จะช่วยนำมาแขวนมาแปะไว้รอบห้องให้คนมาเยี่ยมและสุภาพรได้อ่าน ทำให้เธออยู่ในบรรยากาศที่ห้อมล้อมไปให้กำลังใจตลอดเวลา กระทั่งในช่วงสองอาทิตย์สุดท้าย จึงมีการจัดระยะผู้เข้าเยี่ยมให้คนเข้าใจอยู่ใกล้ คนไม่เข้าใจและไม่พร้อมจะรับความตายอยู่ข้างนอก เพื่อไม่ให้มารบกวนการจากไปอย่างสงบของเธอ

           ส่วนองค์ประกอบสุดท้ายและสำคัญที่สุดของบ้าน คือบ้านที่อยู่ภายในตัวเอง แม้สุภาพรเป็นผู้สนใจและปฏิบัติธรรม หมั่นทำความดี ช่วยเหลือผู้อื่นมาตลอด แต่มะเร็งกลับทำให้เธอได้ใกล้ชิดและนำธรรมะมาปฏิบัติในชีวิตจริง ไม่ใช่จากการอ่านจากตำราหรือถ่ายทอดให้คนอื่นเหมือนแต่ก่อน ความเจ็บป่วยช่วยทำให้เธอมองเห็นกิเลสที่ตัวเธอเองยังต้องขัดเกลา จนกระทั่งสามารถลดละและปล่อยวางสิ่งต่างๆ ลงไปได้เป็นอันมาก ก่อนจะจากไปอย่างสงบท่ามกลางญาติมิตรที่ช่วยกันนำทางให้เธอในวาระสุดท้าย

           “สองเดือนสุดท้ายของชีวิต สุภาพรต้องนอนอยู่บนเตียงสถานเดียว ไม่สามารถขยับเขยื้อนไปไหนได้ แม้แต่จะลุกขึ้นนั่ง ร่างกายของเธอเริ่มเป็นอัมพาตจากปลายเท้าขึ้นมาเป็นลำดับ แม้กระนั้น เธอก็ปฏิเสธที่จะเข้าโรงพยาบาล หากยืนยันที่จะรักษาตัวที่บ้าน บ้านที่เธอเพียรสร้างสวนขึ้นมาจนร่มรื่นและหลากสีสัน ที่ที่เธอเหลียวมองอย่างชุ่มชื่นใจจากเตียงข้างหน้าต่าง ดูเหมือนว่าเธอตั้งใจแต่แรก จะให้ที่นั่นเป็นเรือนตาย มิใช่เป็นแค่เรือนพักอาศัยเท่านั้น” จากคำนำ อยู่เป็น เจ็บเป็น ตายเป็น โดยพระไพศาล วิสาโล

 

 

คอลัมน์: