Error message

  • Deprecated function: Methods with the same name as their class will not be constructors in a future version of PHP; views_display has a deprecated constructor in require_once() (line 3066 of /home/budnetorg/domains/budnet.org/public_html/sunset/includes/bootstrap.inc).
  • Deprecated function: The each() function is deprecated. This message will be suppressed on further calls in menu_set_active_trail() (line 2385 of /home/budnetorg/domains/budnet.org/public_html/sunset/includes/menu.inc).

สำนักงานสุขภาพแห่งชาติ กับ แพทยสภา มองต่างมุมเรื่องสิทธิการตายอย่างสงบ

-A +A

 

          หลังจากสำนักงานคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ (สช.) ได้ออกประกาศเรื่องหนังสือแสดงเจตนาฯ ตามมาตรา ๑๒ ใน พรบ.สุขภาพแห่งชาติ เพื่อเป็นแนวทางปฏิบัติสำหรับบุคลากรทางการแพทย์ ได้ก่อให้เกิดกระแสคัดค้านจากแพทย์ส่วนหนึ่ง โดยเฉพาะจากแพทยสภา จนกลายเป็นวิวาทะและจะมีการดำเนินงานฟ้องร้องต่อศาลปกครองเพื่อให้มีคำสั่งเพิกถอนกฎกระทรวงตามมาตราดังกล่าว อาทิตย์อัสดง เรียบเรียงความเคลื่อนไหวล่าสุดของวิวาทะดังกล่าวเพื่อการพิจารณา

 

        ๑๐ มิถุนายน พ.ศ.๒๕๕๔

          ในการสัมมนาเรื่อง “เจตนารมณ์การขอใช้สิทธิการตายในวาระสุดท้ายของชีวิต: ผลกระทบต่อผู้ป่วยและแพทย์” 

          นพ.อำพล จินดาวัฒนะ เลขาธิการคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ (สช.) และ ศ.แสวง บุญเฉลิมวิภาส จากคณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ กล่าวตรงกันว่า ประกาศดังกล่าวไม่ใช่กฎหมายบังคับใช้ เป็นเพียงแนวทางการดำเนินการตามมาตรา ๑๒ ที่ระบุให้ทราบถึงการดำรงของสิทธิที่มีอยู่ตามกฎหมาย และเป็นการกำหนดแนวทางการปฏิบัติที่เกี่ยวข้องกับการดูแลผู้ป่วยระยะสุดท้ายให้ชัดเจน โดยแพทย์ยังคงรักษาด้วยมาตรฐานวิชาชีพต่อไป แต่ต้องทำควบคู่กับการพูดคุยกับญาติพี่น้องของผู้ป่วย จึงไม่ต้องกังวลว่าแพทย์จะถูกฟ้องร้อง และหากแพทย์มีความคลางแคลงใจว่าเป็นหนังสือปลอมหรือไม่ อาจตรวจสอบโดยการสอบถามกับญาติก่อนปฏิบัติตาม 

          แต่ทางด้าน นพ.วิสุทธิ์ ลัจฉเสวี ผู้ช่วยเลขาธิการแพทยสภา กลับเห็นว่า เป็นการออกกฎหมายโดยไม่รู้ข้อเท็จจริง หากแพทย์ปฏิบัติตามหรือไม่ปฏิบัติตาม ถือว่าอยู่ในสภาวะเสี่ยง และจะเป็นการการุณยฆาต หากจะดำเนินการอยากเสนอให้ สช. เป็นผู้รับผิดชอบการดำเนินการตามกฎหมาย 

          ส่วน นพ.ทรงยศ ชัยชนะ ผู้แทนปลัดกระทรวงสาธารณสุข กล่าวว่า หัวใจสำคัญอยู่ที่คำนิยามของ “วาระสุดท้าย” แม้ว่าสิทธิการรับบริการสาธารณสุขจะเป็นของผู้ป่วย แต่วาระสุดท้ายเป็นหน้าที่ของแพทย์ต้องวินิจฉัย แพทย์อาจกังวลว่าตัวเองจะมีความผิดจากการตัดสินใจว่าผู้ป่วยอยู่ในวาระสุดท้ายหรือไม่ เพื่อความชัดเจนและเข้าใจตรงกัน ควรทำให้ทุกฝ่ายเกิดความกระจ่างของคำนิยามก่อน

 

        ๓๐ มิถุนายน พ.ศ.๒๕๕๔

          นพ.อำนาจ กุสสลานันท์ นายกแพทยสภา และนพ.วิสุทธิ์ ลัจฉเสวี ผู้ช่วยเลขาธิการแพทยสภา กล่าวว่ากฎกระทรวงมีบทบัญญัติหลายประการที่ละเมิดและจำกัดสิทธิของผู้ป่วยและแพทย์ เป็นการบังคับแพทย์ให้ยุติการรักษาหรือเร่งการตายของผู้ป่วย หรือละเว้นการปฏิบัติการรักษาชีวิต เช่น การถอดเครื่องช่วยหายใจ ซึ่งขัดกับหลักจรรยาบรรณของแพทย์ แพทยสภาจึงออกแนวปฏิบัติ (๖ ประการ) ส่งให้กับแพทย์ทั่วประเทศไป และได้รับข้อร้องเรียนจากแพทย์ ประชาชน มีการเสนอให้แพทยสภาเป็นตัวแทนในการฟ้องร้องต่อศาลปกครอง เพื่อให้ยกเลิกข้อบังคับในกฎกระทรวง โดยในวันที่ ๑๔ ก.ค. จะมีการประชุมคณะกรรมการแพทยสภาเพื่อหาข้อยุติ 

          ขณะที่ ศ.นพ.วิรัติ พาณิชย์พงษ์ รองประธานกรรมาธิการการสาธารณสุข วุฒิสภา กล่าวว่า การทำหนังสือแสดงเจตนาปฏิเสธการรักษาจะทำให้ผู้ป่วยเสียสิทธิในหลายด้าน เช่น ๑. หากผู้ป่วยถือสิทธิบัตรทอง จะเสียสิทธิเรียกร้องค่าเสียหายตามมาตรา ๔๑ ของ พ.ร.บ.หลักประกันสุขภาพแห่งชาติ ๒. อาจจะเสียสิทธิในการได้รับค่าทดแทนประกันชีวิต เพราะถือว่าเป็นการเจตนาฆ่าตัวตาย ๓. ในส่วนของแพทย์หากไม่มีความรู้ทางด้านกฎหมายอย่างชัดเจนแล้ว การกระทำการใด ๆ อาจจะเป็นการทำผิดกฎหมายอื่น ๆ อีกได้

          ในเรื่องการเสียสิทธิทางกฎหมายต่างๆ นพ.ประทีป ธนกิจเจริญ รองเลขาธิการ สปสช. กล่าวว่า เป็นความเข้าใจผิด ผู้ป่วยที่มีหนังสือแสดงเจตนาปฏิเสธการรับบริการสาธารณสุข ยังคงได้รับสิทธิรับเงินช่วยเหลือตามมาตรา ๔๑ เพราะเป็นคนละเรื่องกัน 

          ล่าสุดเมื่อวันที่ ๑๔ ก.ค. ที่ประชุมแพทยสภามีมติเห็นชอบมาตรา ๑๒ และไม่ฟ้องศาลปกครองให้ระงับการใช้สิทธิการตาย แต่เสนอตัวเป็นเจ้าภาพให้ตั้งคณะอนุกรรมการร่วมประกอบด้วยตัวแทนจากกระทรวงสาธารณสุข สำนักงานคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ (สช.) ผู้แทนโรงเรียนแพทย์ คณบดีคณะแพทยศาสตร์แต่ละสถาบัน เหล่าทัพ เพื่อหารือเรื่องแนวทางปฏิบัติ และเรื่องของถ้อยคำ การแปลความหมายวาระสุดท้ายของชีวิตให้เข้าใจตรงกัน

          ความเคลื่อนไหวต่างๆ ดังกล่าวคงไม่ยุติได้ในเวลาอันใกล้ จึงเป็นเรื่องที่ทุกภาคส่วนของสังคมจะต้องติดตามและมีส่วนร่วมอย่างใกล้ชิด มิให้เกิดการขัดขวางและแปรเปลี่ยนเจตนารมณ์ของกฎหมายไปจากที่ควร แต่เพื่อให้เป็นประโยชน์ต่อผู้เกี่ยวข้องทุกฝ่ายโดยเฉพาะผู้ป่วยอย่างแท้จริง

 

ที่มา :
ASTV ผู้จัดการออนไลน์ วันเสาร์ที่ ๑๑ มิถุนายน พ.ศ ๒๕๕๔
เดลินิวส์ วันศุกร์ที่ ๑ กรกฎาคม พ.ศ.๒๕๕๔
http://www.manager.co.th/QOL/ViewNews.aspx?NewsID=9540000082320
http://www.manager.co.th/Qol/ViewNews.aspx?NewsID=9540000086290
http://www.thaipost.net/news/150711/41759

 

วิวาทะเรื่องแนวทางการปฏิบัติของแพทย์ ที่ออกโดยแพทยสภา

แนวทางการปฏิบัติของแพทย์ 
โดยคณะอนุกรรมการบริหาร แพทยสภา
คำอธิบายแย้งของ
ศ.แสวง บุญเฉลิมวิภาส
* จาก “แพทยสภากับการออกแนวปฏิบัติที่สร้างความสับสนแก่บุคลากรทางการแพทย์” 
๑. เมื่อได้รับหนังสือแสดงเจตนาฯ แพทย์ผู้เกี่ยวข้องต้องแน่ใจว่าหนังสือดังกล่าวเป็นหนังสือแสดงเจตนาฯ ที่กระทำโดยผู้ป่วยขณะที่มีสติสัมปชัญญะ เช่น หนังสือแสดงเจตนาฯ ที่กระทำโดยอยู่ในความรู้เห็นของแพทย์ เช่นนี้แล้วให้ปฏิบัติตามความประสงค์ของผู้ป่วย ยกเว้นกรณีตามข้อ ๖  ๑. สิทธิการทำหนังสือแสดงเจตนาฯ มิใช่การให้สิทธิแก่ผู้ใดที่จะฆ่าตัวตาย แต่เป็นกรณีการปฏิเสธการรับบริการในวาระสุดท้ายของชีวิต เมื่อถึงจุดที่ไม่อาจรักษาโรคให้หายได้ โดยขอจากไปตามวิธีธรรมชาติ อย่าเหนี่ยวรั้งหรือพยายามฝืนความตายด้วยวิธีการต่าง ๆ 
๒. หนังสือแสดงเจตนาฯ นอกเหนือจากข้อ ๑ ควรได้รับการพิสูจน์ว่ากระทำโดยผู้ป่วยจริง  ๒. แพทย์ไม่มีหน้าที่ต้องไปตรวจสอบว่า Living will เป็นของจริงหรือของปลอม ในเวชปฏิบัติของแพทย์จะยึดหลักวิชาและจริยธรรมในการทำงานมากกว่ายึดแง่มุมในทางกฎหมาย ความสุจริตใจของแพทย์เป็นเรื่องที่อธิบายเรื่องต่าง ๆ ได้อยู่แล้ว ยิ่งแนวทางของแพทยสภาไม่ได้ทำเป็นประกาศของแพทยสภา แต่เป็นการออกแนวทางลอย ๆ จึงไม่สามารถคุ้มครองแพทย์ได้เลย 
๓. ในกรณีที่ยังพิสูจน์ไม่ได้ถึง “ความจริงแท้” ของหนังสือแสดงเจตนาฯ นี้ ให้ดำเนินการรักษาผู้ป่วยตามมาตรฐานวิชาชีพเวชกรรม  ๓. การทำตามความประสงค์ของผู้ป่วยที่ได้สั่งไว้ว่า ขออย่าใส่เครื่องช่วยหายใจ ขอไม่ให้เจาะคอหรือปั๊มหัวใจ มิได้หมายความว่าแพทย์จะทอดทิ้งไปเลย การให้การรักษาแบบประคับประคอง (Palliative care) ยังคงกระทำอยู่ จึงไม่มีประเด็นที่จะกล่าวหาว่าแพทย์งดเว้นการปฏิบัติหน้าที่
๔. การวินิจฉัยวาระสุดท้ายของชีวิตให้อยู่ในดุลยพินิจของแพทย์ที่เกี่ยวข้องในภาวะวิสัยและพฤติการณ์ในขณะนั้น  ๔. กฎหมายนิยาม “วาระสุดท้ายของชีวิต”  ได้เพียงกรอบโดยทั่วไป แต่วาระสุดท้ายของชีวิตในแต่ละกรณี แพทย์จะวินิจฉัยตามหลักวิชา เมื่อผู้ป่วยไม่รู้สึกตัว แพทย์จะสื่อกับญาติ หากญาติเห็นด้วยกับข้อวินิจฉัย ก็สามารถทำตาม Living will ได้ แต่หากญาติไม่เห็นด้วยและอยากเหนี่ยวรั้งชีวิตต่อไป แพทย์สามารถทำตามที่ญาติต้องการ หรืออาจทำตามคำสั่งใน Living will ซึ่งมาตรา ๑๒ วรรคสาม ได้บัญญัติไว้แล้วว่า ไม่เป็นความผิดและให้พ้นจากความรับผิดทั้งปวง
๕. ไม่แนะนำให้มีการถอดถอนการรักษาที่ได้ดำเนินอยู่ก่อนแล้ว  ๕. การทำ Living will ไม่ใช่การุณยฆาต หรือการเร่งการตาย แต่เป็นเรื่องที่ผู้ป่วยขอตายตามธรรมชาติ การยืนยันว่าเรื่องดังกล่าวเป็นการุณยฆาต เป็นการตายผิดธรรมชาติ และโยงไปว่าอาจเกิดปัญหาการใช้สิทธิกับบริษัทประกันชีวิต หรือสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) ทำให้เกิดความเข้าใจผิดและสับสน
๖. ในกรณีที่มีความขัดแย้งกับญาติผู้ป่วย เกี่ยวกับเรื่อง “ความจริงแท้” ของหนังสือแสดงเจตนาฯ ดังกล่าว แนะนำให้ญาติผู้ป่วยใช้สิทธิทางศาล ๖. การแนะนำให้ญาติผู้ป่วยไปใช้สิทธิทางศาลเมื่อมีปัญหา แทนที่จะพูดคุยกัน จะทำให้เป็นปัญหามากขึ้น เกิดปัญหาในเวชปฏิบัติและทำลายจริยธรรมที่ครูบาอาจารย์ทางการแพทย์ได้สอนไว้ ให้สร้างความสัมพันธ์ที่ดีกับผู้ป่วยและญาติ

 

 

 

 

คอลัมน์:

ผู้เขียน: